นับจากอดีตสมัยที่เป็น 3G ค่ายแดงเป็นรายแรกๆ ที่ลงทุนปักเสาปูพรมสถานีฐานคลื่น 850MHz ที่เรามองไปตามถนนข้างทางมองเห็นได้ง่ายๆ เป็นเสาขนาดใหญ่ทั่วทุกตำบล อำเภอ ซึ่งก็คือรากฐานของการวางเครือข่ายตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เมื่อได้คลื่นมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆก็ได้ต่อเติมเพิ่มสายอากาศและอัดแน่นด้วยสถานีฐานที่รองรับคลื่นสูง เช่น 1800/2100MHz เพื่อทำให้รองรับการใช้งานได้ครอบคลุมและต่อเนื่องตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมา จาก 3G สู่ 4G และ 4G+ ตามลำดับ
TMH มีคลื่นในระบบ ทั้งคลื่นต่ำ [850&900] ที่สร้างความครอบคลุมของสัญญาณได้เป็นอย่างดี และคลื่นสูงที่รองรับการใช้งานเป็นปริมาณมากๆได้พร้อมกัน [1800&2100] รวมทุกอย่างแล้ว 110MHz (55 x2) โดยปริมาณคลื่นทั้งหมดที่ว่ามานี้ TMH จัดสรรแบ่งประเภทการใช้งานครบทุกเทคโนโลยีอันได้แก่ 2G 3G และ 4G ในแต่ละวันความต้องการใช้งานในด้านดาต้า หรือการรับส่งข้อมูลยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทำให้การจัดสรรคลื่นเพื่อนำไปตอบสนองการบริการที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจึงเน้นไปทาง 4G 4G+ และ อนาคตอันใกล้ 5G
ปัจจุบัน เราตรวจพบว่า TMH ใช้คลื่นมากกว่าครึ่งมาให้บริการ 4G และ 4G+ รวม 70MHz (35 x2) ในปริมาณ bandwidth ที่กล่าวมานี้ เมื่อใช้กับระบบสายอากาศแบบ 4x4MIMO ที่มีในทุกสถานีฐานในระบบ 1800 MHz (2100/900 บางสถานีฐาน) และ 32T32R ในพื้นที่สำคัญที่มีการใช้งานหนาแน่นในเขตเมือง Massive MIMO เหล่านี้ เพิ่มความจุคลื่นจาก 70MHz ให้เป็น 2 เท่าได้ทันทีโดยไม่ต้องไปประมูลคลื่นมาเพิ่ม หากเทียบกับผู้ให้บริการอีกสองราย แม้จะเคลมว่ามีคลื่นที่ใช้ทำ 4G 4G+ ถึง 80MHz (40 x2) ก็ตามแต่เมื่อไม่มี MassiveMIMO เราจะเห็นได้ชัดว่า TMH ใช้ทางลัด MassiveMIMO เข้ามาเบิ้ล Capacity จึงมีความจุที่สามารถรองรับผู้ใช้งานได้เกินกว่ารายอื่นๆได้เกือบเท่าตัว
มองไปในอนาคต กสทช. ยังคงมีคลื่นอีกหลายความถี่ที่จะนำมาเปิดประมูล ทั้งย่าน 700 และ 2600MHz ในการที่จะเตรียมความพร้อมในทุกๆด้านให้รองรับและเปิดใช้งานได้ในเวลาอันรวดเร็วหลังการประมูล การติดตั้งสายอากาศขนาดเล็กตามพื้นที่ต่างๆที่มีการใช้งานหนาแน่นนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ให้บริการ เพราะปัจจุบันสถานีฐานขนาดใหญ่ที่มีอยู่ทั่วประเทศนั้นสร้างความครอบคลุมเอาไว้ได้เป็นอย่างดีพอๆกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะสร้างความได้เปรียบในการสร้างบริการ 4G/4G+/5G ที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องใช้ SmallCell ติดตั้งเพิ่มในพื้นที่ต่างๆให้มากที่สุด ยิ่งมีเสาถี่มาก ก็ยิ่งรองรับการใช้งานได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เราจึงพบความเปลี่ยนแปลงของความแรงของขีดสัญญาณบนหน้าจอและความเร็วที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เกิดจากการที่ TMH เลือกที่จะติดตั้ง Small Cell อย่างบ้าคลั่งตามพื้นที่ต่างๆในเขตเมือง ตามถนน ตรอกซอกซอยต่างๆเต็มทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ย่านธุรกิจคับคั่ง โรงเรียน สถานที่ราชการ
(ภาพจากสมาชิกกลุ่มฯ)
กลวิธีติดสายอากาศเพิ่มให้มากที่สุดนี้ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับคลื่นความถี่ที่มีอยู่แล้วเช่น 1800MHz ได้เป็นอย่างดีเพราะถือเป็นการเพิ่ม Capacity ที่มีนัยสำคัญสำหรับการใช้งานคลื่นใหม่ๆที่จะออกมาประมูลในอนาคตและ 5G ก็สอดคล้องหรือมาถูกทางเป็นอย่างยิ่งเพราะ 5G ใช้คลื่นสูง ระยะทำการจึงไปได้ไม่ไกลแต่อุปสรรคนี้จะหมดไปด้วยการเตรียมความพร้อมในทุกๆด้านให้รองรับไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ตอนนี้
(ภาพจากสมาชิกกลุ่มฯ)
ปัญหาเน็ตช้า ช่องสัญญาณไม่พอมักจะเลือกเกิดเฉพาะบริเวณที่มีการใช้งานหนาแน่น การแก้ปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่วิธีเพิ่มคลื่น จาก 15 เป็น 20MHz แล้วจะทำให้ปัญหานั้นจบไปได้อย่างเดียว แต่วิธีที่นานาประเทศเลือกใช้คือการอัดเสาหรือสถานีฐานขนาดเล็กเข้าไปให้มากที่สุด อย่างเช่นในเกาหลีใต้ที่เราเดินไปไหนก็จะเห็นแต่สายอากาศขนาดเล็กเต็มเมืองไปหมดและประกอบกับการใช้เทคโนโลยี Carrier Aggregation & Higher Modulation และ Massive MIMO เข้ามาช่วย ซึ่งในไทยเห็นจะมีแค่ TMH รายเดียวที่เอาจริงเอาจังกับการลงทุนในรูปแบบนี้มาตั้งแต่เริ่มแรก โดยเฉพาะคลื่น 1800MHz ที่ตั้งแต่เริ่มใช้ก็คลอด SPEC มาเป็น 4×4 ทั่วประเทศ ทำให้เรารู้สึกได้ว่าเวลาใช้งานในพื้นที่ๆมีคนเยอะๆแล้วเน็ตยังคงใช้งานได้อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัดตรงกันข้ามกับผู้ให้บริการบางรายที่เคลมว่าคลื่นมากสุดแต่ใช้งานจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้นเพราะสายอากาศส่วนใหญ่ 90% ยังไม่รองรับ Massive MIMO
(ภาพจากสมาชิกกลุ่มฯ)
และเทคโนโลยีล่าสุดที่ผ่านขั้นตอนการทดสอบกับ กสทช.ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วคือ LAA ซึ่งตัวนี้จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆอย่าง iPhone รุ่นล่าสุด Samsung รุ่นเรือธง หรือแบรนด์อื่นที่ใช้ชิปเซ็ท SNAPDRAGON ต่างก็ออกมารองรับ TMH ได้ทดสอบการใช้งานจริง เคลมว่าสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายให้มีความจุหรือ Capacity เพิ่มได้อีกหลายเท่าตัวโดยไม่ต้องเสียเงินลงทุนค่าคลื่นเพิ่ม แต่นำไปลงทุนในการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อกระจายสัญญาณให้ถี่ขึ้นเพื่อนำคลื่นที่มีอยู่กระจายให้กับผู้ใช้เครือข่าย TMH แบบทั่วถึง ไม่ว่าใช้งานด้วยอุปกรณ์อะไรก็จะใช้งานได้อย่างราบลื่นสม่ำเสมอในทุกพื้นที่เพราะด้วยเสาส่งขนาดใหญ่และเสาส่งขนาดเล็กที่มีอยู่มากนี้จะทำให้อัตราการแชร์ใช้ช่องสัญญาณอยู่ในอัตราที่ต่ำ ทำให้ใช้งานได้ต่อเนื่องและลื่นไหลแม้ใช้พร้อมๆกันเป็นจำนวนมาก
สรุปโดยภาพรวมจะเห็นว่าการเพิ่มคลื่นหรือ Bandwidth นั้นเป็นเพียงวิธีการนึงในการแก้ปัญหาคุณภาพการให้บริการแต่ไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดเสมอไป แต่วิธีการเพิ่มเสาส่งขนาดเล็กหรือ small cell และใช้เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Massive MIMO , Carrier Aggregation , Higher Modulation , LAA เข้ามาช่วย จะทำให้ Capacity และ Quality Of Service ได้รับการปรับปรุงอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากกว่า และถือเป็นส่วนนึงในการเตรียมความพร้อมไปสู่โครงข่าย 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ตอนนี้ก็คงมีแต่ TMH ที่ออกสตาร์ท นำทุกสิ่งอย่างมาลงมือปฎิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมจนเราได้เห็นและได้สัมผัสตอนใช้งานโดยบางอย่างก็ทำแบบเงียบๆไม่ได้เป่าประกาศหรือโฆษณาออกมา สำหรับคนที่ชอบสังเกตุและอัพเดทเทคโนโลยีใหม่ๆต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ค่ายนี้ล้ำกว่าชาวบ้านชาวช่องแบบไม่ต้องออกสื่อ” ก็ว่าได้!
อ่าน: 3,970