7 กุมภาพันธ์ 2562 – ดีแทคขยายธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle Connectivity Platform) หรือ EV ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดมลพิษ ฝุ่นควันบนท้องถนน ดีแทคเป็นบริษัทโทรคมนาคมรายแรกในประเทศไทย ที่ประกาศร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำหลายแบรนด์ของโลก และกลุ่มพันธมิตรสำคัญคือ บริษัท เอ็มวิชั่น จำกัด(มหาชน) เป็นผู้จัดงาน EV Expo และเป็นตัวกลางประสานงานกับผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMARTเจ้าของตู้บุญเติม เป็นจุดให้บริการชาร์จมอเตอร์ไซด์ EV เพื่อเสนอทางเลือกใหม่ในการใช้ชีวิตของคนเมืองที่สนุกกับสมรรถนะในการขับขี่ พร้อมกับประหยัดค่าใช้จ่าย และรักษาสิ่งแวดล้อม

นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรักษาการรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ปัญหามลพิษ ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาคือ การเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า  EV ที่นอกเหนือจากจะช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางการอากาศอย่างยั่งยืน ดังเช่น หลายเมืองในสาธารณรัฐประชาชนจีนรณรงค์ให้ประชาชนใช้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า อันเป็นกลยุทธ์สำคัญของแผนการพัฒนาเมืองที่กำลังเติบโต การใช้รถไฟฟ้าอย่างแพร่หลายยังสามารถช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อสิ่งแวดล้อมของไทยได้ สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้ EV นโยบายทางภาษี ในการผลิต EV ในประเทศไทย”

ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม EV Connectivity จะเป็นผู้ที่เชื่อมโยงผู้ผลิตรถไฟฟ้า EV บริษัทประกัน บริษัทเช่าซื้อและสถาบันการเงินและสินเชื่อ บริการเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่หลายจุดทั่วกรุงเทพฯ บริการการรับชำระเงินผ่านระบบบิลลิ่งของดีแทคและพันธมิตร รวมถึงบริการซ่อมบำรุงหลังการขาย ทั้งหมดนี้เพื่อมอบความสะดวกสบายในการใช้งานของลูกค้า ซึ่งเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ผ่านการเชื่อมต่อของซิมดีแทค ไตรเน็ต ซึ่งเป็นหัวใจในการเชื่อมต่อผ่านแอปพลิเคชัน ผู้ใช้งานจะได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า EV โดยบริการทั้งหมดได้ถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกันผ่านแอปพลิเคชั่นเดียว ที่ให้ความสะดวกและความคุ้มค่า ที่นอกเหนือจากการใช้งานบนฟีเจอร์การขับขี่ปกติ เช่น เช็คสถานะแบตเตอรี่ ชำระค่าเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่ การแจ้งระยะทางและระบบอำนวยความสะดวกในการค้นหาเส้นทางการเดินทาง ระบบกันขโมย การกำหนดความเร็วสูงสุด แล้วยังสามารถชำระค่าเช่าซื้อ การรับประกันได้อีกด้วย นอกจากนี้ ดีแทคและกลุ่มพันธมิตรยังจัดเตรียมความพร้อมด้านบริการหลังการขายและการซ่อมบำรุงอย่างครบวงจร

ในเฟสแรก ดีแทคและฟอร์ทสมาร์ท ร่วมกันเปิดจุดบริการชาร์จไฟฟ้าและเปลี่ยนแบตเตอรี่ผ่านตู้อัจฉริยะในพื้นที่ทดลองให้บริการในกรุงเทพฯ และจะขยายจุดบริการเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต ส่วน เอ็ม วิชั่น เป็นตัวกลางประสานงานกับผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยดีแทคพร้อมที่จะร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ ที่จะเข้ามาร่วมมือกัน เพื่อช่วยผลักดันให้ไทย เกิดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรม EV ในเฟสต่อไป

ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม EV Connectivity ของดีแทคจะได้ประโยชน์ในการใช้งานที่สำคัญดังนี้ คือ

  1. ช่วยประหยัดค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา ได้มากกว่าจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน โดยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าถึง 50%
  2. สะดวกสบาย ด้วยการมีแอปพลิเคชัน ในการควบคุม ขับขี่ได้ง่าย ไม่เกิด ฝุ่นควันพิษ ไม่มีเสียงดัง บำรุงรักษาง่าย รวมถึงสามารถทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้บนแอปพลิเคชั่นเดียว
  3. มีพันธมิตรผู้ผลิตหลากหลายยี่ห้อให้เลือกใช้ ทั้งจากผู้ผลิตแบรนด์จีน และยุโรป ที่พร้อมใช้ด้วยแอปพลิเคชันเดียวกัน

“การให้บริการแพลตฟอร์ม EVconnectivity ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรก ในการขยายธุรกิจ ที่เป็นมากกว่าผู้ให้บริการมือถือ ของดีแทค เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการกลับมาเติบโตในธุรกิจอีกครั้ง นางอเล็กซานดรา” กล่าวสรุป

รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายใต้แพลตฟอร์มของดีแทค จะเริ่มทำตลาดเต็มรูปแบบในเดือนมิถุนายน โดยจะมีรุ่นที่เข้าร่วมเบื้องต้น 3-5 รุ่น โดยดีแทคมีแผนที่จะวางจำหน่าย รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้

นายโอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มวิชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ บริษัทเห็นถึงโอกาสในตลาด EV ของไทย โดยเราเป็นผู้จัดงาน Bangkok EV Expo ซึ่งเป็นงานโชว์-จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า และการความร่วมมือกับดีแทคและบุญเติมครั้งนี้ยังจะช่วยส่งเสริมให้ตลาด EV ในประเทศไทยมีการเติบโตมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังสนับสนุนบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสองทาง ได้แก่ ทางด้านการจัดการ และการร่วมมือกับพันธมิตรจำหน่ายยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งการร่วมมือดังกล่าวยังจะช่วยลดปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว  หลังพบเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องในปัจจุบัน เพราะว่าการจำหน่ายยานยนต์ครั้งนี้เป็นการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้มลพิษทางอากาศลดลง และตอบสนองนโยบายของหน่วยภาครัฐที่ต้องการลดมลพิษทางอากาศ จากการเผาและควันจากรถยนต์ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ”

นายพงษ์ชัย อมตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART กล่าวว่า “ในนามของ FSMART และบริษัทในเครือมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือครั้งนี้ โดย FSMART และบริษัทในเครือจะเข้าไปดูแลในส่วนของการให้บริการสถานีชาร์จและเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าผ่านตู้อัจฉริยะที่เตรียมให้บริการในอนาคต ตามสถานที่และจุดบริการต่างๆ อาทิ แหล่งชุมชน สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น โดยอาศัยจุดแข็งการบริหารจัดการด้านทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม พร้อมขยายจุดให้บริหารจากตัวแทนที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้มีการผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ จากการพัฒนาที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ในรูปแบบการติดตั้งบริเวณออฟฟิศ คอนโด (Station) และการติดตั้งในบ้านพักอาศัย (Wall type) และเตรียมติดตั้งเพื่อให้บริการตามสถานที่ต่างๆในปีนี้

 

สำหรับการให้บริการชาร์จไฟฟ้าและเปลี่ยนแบตเตอรี่ในครั้งนี้ นอกจากบริษัทฯจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐเพื่อลดปัญหาทางด้านมลพิษทางอากาศและรักษาสิ่งแวดล้อม ยังเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจหลักของบริษัทฯที่มุ่งเน้นในการเพิ่มความสะดวกให้กับทุกชมชน ตลอดจนสรรหาและพัฒนารูปแบบบริการให้มีคุณภาพและหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด

บรรยายภาพ EV6

นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค (ที่สามจากขวา) ร่วมกับนายทนง ลี้อิสสระนุกูลประธานกรรมการ (ที่สามจากซ้าย) นายโอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มวิชั่น จำกัด (มหาชน) (ที่สองจากขวา) พร้อมด้วยนายพงษ์ชัย อมตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ขวาสุด) ร่วมเปิดตัวแพลตฟอร์มรถมอเตอร์ไซค์ EV ครั้งแรกของไทย ในงานไทยแลนด์ โมบายล์ เอ็กซ์โป 2019

Comments

comments