อย่างที่ทราบกันว่า CAT และ TOT ได้ควบรวมกิจการเป็นบริษัทโทรคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ไปตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2564 ทำให้ 2 องค์กรนี้ต่างฝ่ายต่างนำบริการไม่ว่าธุรกิจ Broadband หรือธุรกิจ Mobile เข้ามารวมและใช้ทรัพยากรร่วมกัน ในส่วนของคลื่น 700 MHz ที่ CAT ได้ประมูลมาให้บริการ 5G นั้น ทาง รมต. ICT ก็ได้ประกาศให้ NT ต้องหา Partner หรือพันธมิตรทางธุรกิจมาจับมือให้บริการ 5G คลื่น 700 MHz เพราะหาก NT ต้องลงทุนเองทั้งหมดจะมีต้นทุนสูงและไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ในบทความนี้ เราจึงมาพิจารณาและคาดเดาว่าใครน่าจะเป็นรายที่ NT เลือกเป็น Partner ด้วยเหตุผลหลายอย่าง พิจารณาจากความร่วมมือและคลื่นที่แต่ละฝ่ายถืออยู่ก็ดี พิจารณาในเชิงเทคนิคก็ดี สุดท้ายแล้วความเป็นได้ไปได้จะอยู่กับค่ายไหน

ทำไม NT ไม่เปิดบริการคลื่น 700 MHz เอง?

คลื่น 700 MHz ในปัจจุบันหากจะนำมาให้บริการ 5G นั้น มี 2 แบบที่ไปเป็นได้คือ ให้บริการแบบ SA หรือ Stand Alone กับแบบ NSA หรือ Non Stand Alone ในแบบแรก (SA) ช่วง (1-2) ปีนี้เราจะยังไม่เห็นอุปกรณ์ที่รองรับ SA 700 MHz ออกมาใช้งานแพร่หลายมากนัก หากผู้ให้บริการเลือกให้บริการ 700 MHz แบบ SA ก็จะทำให้ไม่เกิดการใช้งาน คือใช้งานได้แต่เพียง 4G LTE คลื่น 700 MHz เท่านั้น (เวลาให้บริการ ผู้ให้บริการจะปล่อยสัญญาณทั้ง 4G/5G หรือที่เรียกว่า DSS Dynamic Sharing System) ดังนั้นทางที่เป็นไปได้ในช่วงแรกของการให้บริการ 5G คือการใช้ 5G แบบ NSA ซึ่งจำเป็นต้องใช้ควบคู่ไปกับคลื่นอื่น ซึ่งในที่นี่คือคลื่น 4G 2100 MHz หรือ 1800 MHz ใช้เป็น Anchor band ให้กับ 5G 700 MHz ดังนั้น NT จะให้บริการ 5G 700 MHz ก็จำเป็นต้องใช้คลื่น 2100 MHz หรือ 1800 MHz มาให้บริการควบคู่กันไปด้วย

จริงอยู่ คลื่น 700 MHz มีระยะทำการไปได้ไกลกว่าคลื่นอื่น หรือเป็นคลื่นต่ำ แต่หากจะนำมาให้บริการ 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศก็มีความจำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์เป็นหลักหลายพันสถานีบริการ ซึ่งใช้เงินลงทุนมหาศาล ประกอบกับการให้บริการ 5G ในช่วงแรกนี้ต้องใช้แบบ NSA โดยใช้คู่กับคลื่น 4G 2100/1800 MHz (จากข้อมูลเครื่อง 5G 700MHz NSA ที่วางขาย) ดังนั้นทั้ง 2 เหตุผลนี้จึงจำเป็นที่ NT ต้องมองหา Partner ที่เหมาะสมมาร่วมจับมือเพื่อทำให้บริการ 5G ของ NT เกิดขึ้นได้ เหนือสิ่งอื่นใดคือเรื่องต้นทุนที่จะสามารถเปิดบริการให้เข้าแข่งกันในตลาด Mobile ที่มีการแข่งขันสูงต่อไปได้

สำรวจทรัพยากรคลื่น หรือความร่วมมือของ NT ในปัจจุบันว่ามีคลื่นอะไร ร่วมมือกับใครอยู่บ้าง

คลื่น 700 MHz จำนวน 20 MHz ในฝั่งของ CAT ได้จากการเข้าประมูลคลื่น กสทช. เมื่อต้นปี 2563

คลื่น 850 MHz  จำนวน 20 MHz ในฝั่งของ CAT ปัจจุบัน CAT และ TRUE เป็น Partner กัน โดยมีข้อตกลงความร่วมมือกันใช้เสาสัญญาณและสถานีฐานในการให้บริการคลื่น 850 MHz ทั่วประเทศ จะเห็นว่าคลื่นรหัส 520-00 ที่ใช้งานนี้ปล่อยโดยเสาทรู หรือเสา CAT ลูกค้าของทั้งสองค่ายนี้สามารถเข้าใช้งานได้ในแบบ 3G ความเร็วสูงสุด 42Mbps ซึ่งคลื่น 850 MHz นี้ เป็นคลื่นที่ไม่ได้รับความนิยม มีการใช้งานน้อย เพราะไม่สามารถนำมาให้บริการในรูปแบบ 4G LTE หรือ นำมาใช้เป็น Anchor band ให้กับ 5G คลื่นใดๆที่ใช้ในไทยได้ในปัจจุบัน จะว่าไปแล้วคลื่นนี้ไม่ค่อยมีประโยชน์ทั้งปัจจุบันและอนาคต

คลื่น 2100 MHz จำนวน 30 MHz ในฝั่งของ TOT ปัจจุบัน TOT และ AIS เป็น Partner กัน โดยมีข้อตกลงความร่วมมือกันใช้เสาสัญญาณและสถานีฐานรวมถึงคลื่นความถี่ 2100 MHz รหัสคลื่น 520-15 โดยใช้สถานีฐานและอุปกรณ์เครือข่ายของ AIS ทั้งหมดในการให้บริการทั่วประเทศ โดย AIS ใช้คลื่นนี้ให้บริการทั้ง 3G และ 4G ให้กับ TOT ควบคู่ไปกับคลื่น 2100 MHz ที่ AIS ให้บริการเป็นหลักซึ่งได้มาจากการประมูลจำนวน 30 MHz ออกอากาศเป็น 2 CARRIER ไปพร้อม ๆ กัน ที่ไหนมี AIS 2100 MHz ที่นั่นก็จะมีคลื่น 2100MHz ที่มีรหัสคลื่น 520-15 ที่เป็นของ TOT คู่กันไปด้วย ทำให้ลูกค้า TOT สามารถเข้าถึงและใช้งาน 3G และ 4G ในทุกที่ ๆ AIS มีบริการ

คลื่น 2300 MHz จำนวน 60 MHz ในฝั่งของ TOT ปัจจุบัน TOT และ DTAC เป็น Partner กัน โดยมีข้อตกลงความร่วมมือกันใช้เสาสัญญาณและสถานีฐานรวมถึงคลื่น 2300 MHz โดยแบ่งการใช้งานให้ DTAC ใช้ได้สูงสุด 60% ของความจุและอีก 40% ทาง TOT จะนำไปให้บริการเอง โดย DTAC เป็นผู้จัดการและดูแลอุปกรณ์การให้บริการทั้งหมด มีสัญญาร่วมการงานกันจนถึงปี 2568

คลื่น 26 GHz จำนวน 400 MHz ในฝั่งของ TOT ซึ่ง TOT ได้จากการเข้าประมูลคลื่นที่ กสทช. เมื่อต้นปี 2563

สรุปประเด็นทางเทคนิคที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ ซึ่งเกี่ยวข้องและมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับ NT และผู้ที่จะมาเป็น Partner ในการให้บริการ 5G คลื่น 700 MHz

ข้อแรก อย่างที่เกริ่นนำไปแล้ว 5G 700 MHz แบบ NSA ต้องใช้คลื่น 4G 2100 หรือ 1800 MHz มาเป็น Anchor Band

ข้อสอง คลื่น 850 MHz ของ NT เอง (ของ CAT) และ 2300 MHz (TOT) ใช้เป็น Anchor Band ให้ 5G 700 MHz ไม่ได้ (ข้อนี้เป็นที่มาของการที่จะต้องวิ่งหา Partner)

ข้อสาม การทำ Anchor Band สำหรับ NSA ต้องใช้คลื่นที่มีรหัสคลื่น (Network Code) เดียวกัน นั่นหมายความว่า คลื่น 700 MHz ของ NT จะต้องใช้ร่วมกับคลื่น 4G LTE 2100 หรือ 1800 MHz ที่มีรหัสคลื่น (Network Code) เดียวกัน ถึงจะทำให้เกิดบริการ 5G NSA 700 MHz ได้

แล้ว NT จะเลือกความร่วมมือกับใคร ที่เป็นไปได้มากที่สุด?

หาก NT เลือกที่จะเป็น Partner ร่วมมือกับ AIS จะเห็นว่า คลื่น 2100 MHz ที่เป็นความร่วมมือของ TOT กับ AIS เดิมจำนวน 30 MHz นั้น ก็พร้อมเป็น Anchor Band ให้คลื่น 700 MHz ทันที สามารถเปิดให้บริการแก่ลูกค้าของ NT ได้ทั่วประเทศ ด้วยสถานีฐานคลื่น 2100 ของ AIS ที่มีอยู่เป็นหมื่นสถานี และสามารถให้บริการได้เพราะเป็นรหัสคลื่น (Network Code) ของ NT เอง และไม่ขัดกับกฎระเบียบว่าด้วยการใช้คลื่นของ กสทช.ด้วย ในด้านอุปกรณ์หรือมือถือที่จะใช้งานในท้องตลาดกว่า 97% ที่เป็น Smart Phone 5G NSA สามารถใช้งานได้เลย รวมถึงอนาคตหาก NT จะนำคลื่น 26 GHz มาให้บริการ ก็สามารถใช้คลื่น 2100 MHz ที่เป็นความร่วมมือกับ AIS นี้มาให้บริการเป็น Anchor Band ให้คลื่น 5G 26 GHz แบบ NSA ได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

หาก NT เลือกที่จะเป็น Partner ร่วมมือกับ TRUE จะเห็นว่าคลื่นที่ NT กับ TRUE ร่วมมือกัน ที่มีรหัสคลื่น (Network Code) เป็นของ NT คือคลื่น 850 MHz นั้นไม่สามารถนำมาเป็น Anchor Band ให้ n28 หรือ 5G 700 MHz แบบ NSA ได้ หากร่วมมือกับ TRUE ทาง NT จะต้องลงทุนเครือข่ายและเพิ่มอุปกรณ์ เป็นต้นว่า อุปกรณ์สำหรับให้บริการคลื่น 4G 2100 หรือ 1800 MHz ที่จะใช้เป็น Anchor Band ซึ่งใช้ระยะเวลานานและสิ้นเปลืองเงินลงทุน หรือแม้กระนั้นจะเลือกใช้เทคโนโลยี 5G แบบ SA (Stand Alone) โดยไม่ต้องพึ่งพา 4G ไปเลย ก็จะมีอุปกรณ์มือถือที่สามารถใช้งานได้ในปัจจุบันเพียงแค่ 1-2 รุ่นเท่านั้น ลูกค้า NT จะไม่มีทางเลือกที่หลากหลาย และกว่าที่มือถือรุ่นที่รองรับ 5G SA 700 MHz จะเข้ามาในตลาดแพร่หลายก็ช่วงปลายปี 2564 ไปแล้ว

หาก NT เลือกที่จะเป็น Partner ร่วมมือกับ DTAC จะเห็นว่าเป็นไปได้ยากที่สุดเพราะคลื่น 2300 MHz ที่เป็นความร่วมมือ TOT กับ DTAC นำมาใช้เป็น Anchor Band ให้ n28 หรือ 5G 700 MHz ของ NT ไม่ได้ อีกทั้งรหัสคลื่น (Network Code) ของคลื่น 2100 หรือ 1800 MHz ของ DTAC ก็ไม่ใช่รหัสคลื่น (Network Code) เดียวกันกับ คลื่น 700 MHz ของ NT และว่ากันตามข้อเท็จจริงในด้านเครือข่าย ทาง DTAC มีสถานีฐานน้อยกว่า 2 ค่ายที่กล่าวมา ตัวเลือก DTAC จึงมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก

จากภาพรวมด้วยข้อเท็จจริง โดยดูจากความร่วมมือเดิมที่มีอยู่ของแต่ละค่ายกับ NT ก็ดี ดูความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิคในแง่มุมต่างๆแล้วก็ดี หากให้ท่านผู้อ่านวิเคราะห์เหตุผลทุกด้านแล้วนั้น คงตัดสินใจแทน NT ได้ ว่าควรจะเลือกใครเป็น Partner ในการให้บริการ 5G แล้วคุ้มค่า พร้อมกับตรงตามเงื่อนไขทุกประการมากที่สุด และสามารถให้บริการ 5G ตามกรอบระยะเวลาที่ รมต.ดีอีเอส เคยบอกเอาไว้ว่า จะต้องเปิดให้ทันช่วงเดือน เมษายน ที่จะถึงนี้ ที่สำคัญไปกว่านั้น ลูกค้าของ NT ก็จะได้ใช้ 5G โดยไม่ต้องรอแบบไร้จุดหมายอีกต่อไป…

Comments

comments