กรุงเทพฯ, ประเทศไทย วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2562 – แดสสอล์ท ซิสเต็มส์ (Dassault Systemes) ได้จัดทำอีบุ๊ค หัวข้อ “Forging the Digital Twin in Discrete Manufacturing” (การสร้าง Digital Twin ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน) ภายใต้ความร่วมมือกับ แอลเอ็นเอส รีเสิร์ช (LNS Research) โดยอีบุ๊คฉบับนี้จะรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยี “Digital Twin” มาใช้สร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ออกแบบและวางแผนกระบวนการผลิต รวมถึงระบบต่าง ๆ ในแบบเวอร์ชวล 3 มิติ แก่อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนช่วยโคลนนิ่งต้นแบบโครงการเป็นดิจิทัลฟอร์แมท ใช้เพื่อทดลองและทดสอบในสภาวะแบบจำลอง ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิตจริง

แอลเอ็นเอส รีเสิร์ช ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารกว่า 300 คนจากบริษัทที่เป็นผู้ผลิตในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ตั้งแต่เซมิคอนดักเตอร์ไปจนถึงน้ำมันและก๊าซ และอื่นๆ อีกมากมาย ในประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี “Digital Twin” โดยสาระสำคัญ ๆ ที่ได้รับจากการสำรวจถูกรวบรวมไว้ในอีบุ๊คดังกล่าว รายละเอียดต่อไปนี้:

ราว 40% ของผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามใช้เทคโนโลยี Digital Twin ในการผลิตหรืออยู่ระหว่างการทดลองใช้งาน

60% ของกลุ่มบริษัทที่ใช้แพลตฟอร์ม PLM (Product Lifecycle Management) หรือ IIoT(Industrial Internet of Things) ใช้เทคโนโลยี Digital Twin หรืออยู่ในระหว่างทดลองใช้งาน

23% กล่าวว่า มีงบประมาณมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการ Digital Twin

รายงานยังคาดการณ์ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า โครงการ Digital Twin จะเติบโตถึง 22% ซึ่งนับเป็นโครงการที่จะมีการเติบโตที่สูงและขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก

สำหรับระยะเวลาการคืนทุน บริษัทเกือบ 60% คาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 1 ปี

เทคโนโลยี “Digital Twin” จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตในอนาคต  โดย “Digital Twin” อาจเป็นโมเดลเสมือนจริงของโปรดักส์ เช่น รถยนต์ เครื่องบิน ยารักษาโรค หรือระบบการผลิตทั้งระบบ  และโมเดล “Digital Twin” นี้จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถทดสอบ แก้ไข และปรับปรุงรายละเอียดปลีกย่อยของสิ่งต่าง ๆ ที่มาในรูปแบบเวอร์ชวล 3 มิติ ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการผลิตจริง  ซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าออกสู่ท้องตลาดได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นพร้อมทั้งลดต้นทุนในเวลาเดียวกัน

อีบุ๊คฉบับนี้จะช่วยแนะนำให้ผู้เริ่มต้นศึกษาและผู้ที่กำลังเตรียมปรับใช้ “Digital Twin” เข้าใจหลักการ แนวทางในการปรับใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจการผลิตในอนาคต ผ่านประเด็นสำคัญ 5 ข้อดังนี้:

1. การเก็บข้อมูลเพื่อใช้ต่อยอดสู่ดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน

Digital Twin จะช่วยเก็บข้อมูลดิบผ่านเซ็นเซอร์ที่ถูกติดตั้งบนโปรดักส์และประมวลผลเป็นข้อมูลเชิงสถิติ โดยจะบันทึกรายละเอียดของโปรดักส์นั้น ๆ ตลอดอายุการใช้งาน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาโปรดักส์และปรับกระบวนการการผลิตสู่รูปแบบดิจิทัล

2. การสร้างระบบนิเวศแบบ “Twin-to-Twin”

การสร้าง “Twin-to-Twin” ในสายงานการผลิตคือการวางแผนผังการผลิตที่ครอบคลุมทั้ง ต้นแบบโปรดักส์และตัวอย่างขั้นตอนการผลิต โดยเมื่อ Twins สองชุดเชื่อมต่อกัน ระบบนิเวศแบบ Twin-to-Twin ก็จะถูกสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งระบบนิเวศนี้จะช่วยให้วิศวกรสามารถปรับแบบโปรดักส์และคุณภาพโรงงานผลิตไปพร้อม ๆ กันได้ ตัวอย่าง หากวิศวกรต้องการการแก้ไขรูปแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งหากเป็นขั้นตอนแบบแมนวลปกติ วิศวกรจะเสียเวลาอย่างมากในการตรวจสอบข้อมูลทั้งโรงงาน แต่กระบวนนี้จะช่วยให้เขาดูกระบวนการดาวน์สตรีมทั้งหมดและเลือกเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการซ่อมแซมหรือปรับเปลี่ยนซึ่งสามารถจัดการได้แบบเรียลไทม์ พร้อมกับประสานงานกับซัพพลายเออร์และเครือข่ายในสายผลิตอื่น ๆ ได้ ทำให้กระบวนการพัฒนาและผลิตสินค้าเกิดความต่อเนื่องไม่ชะงัก

3. อุตฯ ยานยนต์ต้นกำเนิด “Digital Twin” สร้างประโยชน์แก่อุตสาหกรรมอื่น ๆ

ต้นกำเนิดแนวทาง “Digital Twin” จากผู้ผลิตยานยนต์ เช่น ฮอนด้า โตโยต้า และเทสลา สร้างแรงบันดาลใจให้แก่บริษัทในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และทรัพยากรธรรมชาติ ใช้สร้างแบบจำลองดิจิทัลสำหรับอุปกรณ์ เครื่องมือ และระบบต่าง ๆ เพื่อทดสอบการปฏิบัติงานแบบเวอร์ชวล

4. อนาคตที่ใกล้เป็นจริงของซูเปอร์สโตร์แบบเวอร์ชวล

การทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทเทคโนโลยีและร้านค้าปลีก โดยใช้ Digital Twin ช่วยให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคจากพื้นที่ขายโดยตรง และส่งไปยังสภาพแวดล้อมเสมือนจริงเพื่อทำการวิเคราะห์ และพัฒนาเป็นตัวอย่างร้านค้าที่เข้าใจและตอบโจทย์ขาช้อปได้มากยิ่งขึ้น


5. Digital Twin ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของ IIoT

เทคโนโลยี “Digital Twin” เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาต่อยอดจาก IoT (Internet of Things) ไปสู่ IIoT (Industrial Internet of Things) โดยกระบวนการ IIOT ต่าง ๆ เช่น บิ๊กดาต้า ระบบวิเคราะห์ข้อมูล และการซ่อมบำรุงที่อาศัยการพยากรณ์ ได้กลายเป็นแง่มุมสำคัญของการถ่ายโอนข้อมูลสำหรับ Digital Twin  ผู้ผลิตรถยนต์อย่างเช่น โตโยต้า ใช้ข้อมูล IIOT จาก Digital Twin ในการวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูล เพื่อปรับปรุงการออกแบบ การผลิต และเพิ่มความรวดเร็วในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด

ซึ่งอีบุ๊คนี้เปิดให้ดาวน์โหลดล่วงหน้าก่อนการประชุมประจำปี “Manufacturing in the Age of Experience”ของแดสสอล์ท ซิสเต็มส์ ซึ่งจะจัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 18 – 19 กันยายน 2562  ในการประชุมดังกล่าว บุคลากรฝ่ายผลิตราว 2,000 คนจากทั่วโลกจะร่วมสนทนาและวิเคราะห์แนวโน้มการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลในระดับโลก รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และแนวโน้มเกี่ยวกับบุคลากรในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสืออีบุ๊คดังกล่าวได้ที่go.3ds.com/oUB

Comments

comments