สำนักงานงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIAกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบรางวัลนวัตกรรมประจำปี 2564 เนื่องใ วันนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เพื่อเชิดชูเกียรติคนไทยที่สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมอันโดดเด่น และก่อให้เกิดคุณค่าต่อประเทศชาติในหลากหลายมิติ อีกทั้งยังเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะ พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย โดยในวันนี้ได้รับเกียรติจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแสดงความยินดีและปาถกฐาพิเศษ

 

 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลนวัตกรรมประจำปี 2564 ซึ่งถือเป็น นวัตกร และ องค์กรนวัตกรรม ที่เป็นแบบอย่างและเหมาะสมในการเชิดชูเกียรติในฐานะที่ประสบความสำเร็จด้านนวัตกรรม และเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคคลอื่น

 

ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชน ประกอบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทั่วโลก สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยและอนาคตของประเทศ ทำให้ นวัตกรรม กลายเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งและถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องนำพาประเทศไปสู่ ประเทศฐานนวัตกรรม พร้อมทั้งได้กำหนดไว้ในเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ 20 ปี คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

 

ดังนั้น การสร้างและเพิ่มจำนวน นวัตกร และ องค์กรนวัตกรรม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และถือเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการพัฒนาบุคลากร ทรัพยากร และองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมที่สามารถขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวกระโดด ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยเรามีบุคลากรและองค์กรที่มีศักยภาพอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งการจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมครั้งนี้ จะเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้คนไทยและสังคมไทยได้รับรู้ถึงศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศไทย และเป็นแรงบันดาลใจให้กับบุคคลและองค์กรอื่นได้คิดสร้างสรรค์และขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย นวัตกรรม ไปด้วยกัน

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืนตามแนวทางในยุทธศาสตร์ชาตินั้น จำเป็นต้องอาศัยความรู้และความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนากำลังคนที่เหมาะสม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยยุทธศาสตร์ชาติได้ระบุวาระการพัฒนาที่เน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) ด้วยเหตุนี้ กระทรวง อว. จึงมุ่งเน้นการบ่มเพาะและพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการนวัตกรรม การพัฒนาระบบนิเวศทางนวัตกรรมในด้านต่าง ให้เอื้อต่อการสร้างและแปลงนวัตกรรมสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม การใช้องค์ความรู้ ผลงานวิจัย และนวัตกรรม/ เพื่อช่วยประชาชน สังคม และภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันจะสร้างกลไกความร่วมมือในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมชั้นแนวหน้าระดับสากล มาพัฒนาและประยุกต์ใช้เสริมศักยภาพการพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศ

 

กระทรวง อว. เชื่อมั่นว่าการจัดงาน วันนวัตกรรมแห่งชาติ จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะสร้างความตระหนัก ผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการคิด พัฒนา และต่อยอดนวัตกรรมของคนไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม และถือเป็นเวทีในการสื่อสารและสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของผู้ประกอบการ หน่วยงาน และนวัตกรไทย ให้เห็นว่าประเทศไทยและคนไทยสามารถสร้างและพัฒนานวัตกรรมที่ทัดเทียมกับนานาประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมได้

 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่ากิจกรรม วันนวัตกรรมแห่งชาติ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ NIA ที่จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะ พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี โดยจะมีพิธีมอบ รางวัลนวัตกรรม ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 เพื่อเชิดชูเกียรติแก่ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมในหลากหลายด้าน และกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวด้านนวัตกรรมขึ้นในประเทศ หน่วยงานทุกภาคส่วนเกิดแรงบันดาลใจในการริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ และสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพด้านนวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยคนไทย เพื่อคนไทย และคนทั่วโลก ซึ่งมีผลงานส่งเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 910 ผลงาน และต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลนวัตกรรมประจำปี 2564 ดังนี้

1) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจ
 รางวัลชนะเลิศประเภทวิสาหกิจขนาดกลาง ได้แก่ ผลงาน: นวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มพร้อมทานที่ทำจากพืชเพื่อสุขภาพ โดย บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด
 รางวัลชนะเลิศประเภทวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อย ได้แก่ผลงาน: ลู่วิ่งในน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยง โดย บริษัท เพ็ททาเนียร์ จำกัด
2) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
 รางวัลชนะเลิศประเภทหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ ผลงาน: โครงการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลสำหรับผู้พิการ โดย บริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น จำกัด
 รางวัลชนะเลิศประเภทหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ ผลงาน: เอนอีซเอนไซม์อัจฉริยะเพื่อกระบวนการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
 รางวัลชนะเลิศประเภทองค์กรเพื่อสังคมและชุมชน ได้แก่ ผลงาน: ระบบติดตามการเกิดไฟจากดาวเทียมผ่านสมาร์ทโมบาย โดย หจก. เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม
3) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ
 รางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลงาน: ระบบนิเวศอัจฉริยะ โดย บริษัท ฉลาด อินโนเวชั่น จำกัด
 รางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบบริการ ได้แก่ ผลงาน: แพลตฟอร์ม เวิร์คเพลสพลัส โดย บริษัท เอ็กซ์ซี จำกัด
4) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสื่อและการสื่อสาร
 รางวัลชนะเลิศประเภทผลงานนวัตกรรมสื่อและการสื่อสาร ได้แก่ ผลงาน: โพธิ เธียเตอร์ โดย บริษัท วาย น็อต โซเชี่ยล เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด
 รางวัลเชิดชูเกียรติประเภทผู้สื่อสารนวัตกรรม ระดับบุคคลธรรมดา ได้แก่ ดร.ปานระพี รพิพันธุ์ และระดับนิติบุคคล ได้แก่ บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด
5) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น
 รางวัลดีเด่นประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
 รางวัลดีเด่นประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดกลาง ได้แก่ บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด
 รางวัลดีเด่นประเภทองค์กรภาครัฐ ราชการ และประชาสังคม ได้แก่ กรมสรรพากร และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
6) รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
 รางวัลชนะเลิศระดับปริญญาตรี หรือ ปวส. ได้แก่ ผลงาน: อุปกรณ์ขยายผนังหัวใจห้องบนจากโลหะผสมจำรูปสำหรับรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
 รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ปวช. ได้แก่ ผลงาน: ผ้าอนามัย Greeny โดย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และ International Community School
7) รางวัล NIA Creative Contest 2020
 รางวัลชนะเลิศ ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม ได้แก่ ผลงาน: HUMAN – W022โดยทีม Early twenties (or younger?)
8) รางวัลนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
 รางวัลชนะเลิศ ประเภทบุคคลทั่วไป ได้แก่ ผลงาน: โครงการการพัฒนาการตรวจจับข่าวปลอมโดยการเรียนรู้ของเครื่องและการตรวจสอบข้อเท็จจริงของประชาชน (Thai D.I. Machine) โดย รศ. ดร.พนม คลี่ฉายา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 รางวัลชนะเลิศ ประเภทเยาวชน ได้แก่ ผลงาน: โครงการการพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อเพิ่มทักษะการรู้เท่าทันสื่อ (The Rumor Villages) โดย ผศ.ภณิดา แก้วกูร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

 

จะเห็นได้ว่า การประกวดรางวัลนวัตกรรมที่ NIA ร่วมจัดกับหน่วยงานชั้นนำทั้งภาคเอกชน ภาคสังคม และภาคการศึกษานั้น เปิดกว้างครอบคลุมตั้งแต่ระดับนักเรียนนักศึกษา นักออกแบบ นักวิชาการ ผู้ประกอบการ ชุมชน ไปจนถึงระดับองค์กร ทุกระดับสามารถส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขัน ผลงานนวัตกรรมมีความหลากหลาย และสามารถเชื่อมโยงได้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปะ ดนตรี รวมไปถึงภาคประชาชนและสังคม ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

 

สามารถติดตามผลการประกาศรางวัลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ค แฟนเพจhttps://www.facebook.com/NIAThailand

Comments

comments