สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ร่วมกับภาคีเครือข่าย รวม 17 หน่วยงาน จัดงาน มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย หรือ TRIUP Fair 2022 ระหว่างวันที่ 4 – 6 เมษายน 2565 ณ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ เพื่อสื่อสารให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักวิจัย ประชาคมวิจัย ผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักรู้และเล็งเห็นคุณูปการของ “พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564” ร่วมกันปลดล็อคผลงานวิจัยของประเทศไทย ให้เติบโตและเกิดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ

ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ประธานพิธีเปิดงาน กล่าวถึงที่มาของการผลักดัน พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 พ.ร.บ. ฉบับใหม่ และ การจัดงาน TRIUP Fair 2022 ว่า “ประเทศของเรากำลังเข้าสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม แต่ยังพบอุปสรรคและเป็นปัญหามานานนับ 10 ปี ที่ทำให้ผลงานวิจัยไม่ได้รับการต่อยอดและนำไปใช้ได้จริง ดังนั้นการมี พ..บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 จะช่วยปลดล็อกความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากงบประมาณสนับสนุนของภาครัฐจนเป็นผลสำเร็จ โดยรัฐที่มีหน้าที่ในการให้ทุนสนับสนุน ผู้รับทุนหรือนักวิจัยมีสิทธิเป็นเจ้าของผลงาน ซึ่ง ..บ. นี้จะทำให้งานวิจัยถูกนำไปใช้อีกทั้งยังเสริมสร้างขีดความสามารถพัฒนาให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี ตลอดจนภาคการผลิต ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตและประชากรมีรายได้สูงขึ้น

ดังเช่นการจัดแสดงผลงานวิจัย ที่ได้รับรางวัล Prime Minister’s TRIUP Awards for Research Utilization with High Impact หรือรางวัลผลงานวิจัยแห่งชาติที่มีผลกระทบสูงประจำปี 2565 ตามเกณฑ์การพิจารณาผลงาน ด้วยวิธีการลงคะแนนร่วมกับการอภิปรายความคิดเห็นของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ จำนวน 19 ท่าน จากผลงานทั้งหมดที่ผ่านการพิจารณา 119 โครงการ ได้แก่

1. สาขาเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology)

รางวัลระดับยอดเยี่ยม ได้แก่ผลงาน “เทคโนโลยีและการถ่ายทอดความรู้เพื่อการจัดการโรคอุบัติใหม่สำหรับฟาร์มปลานิลและปลานิลแดงในประเทศไทยและต่างประเทศ” ของ รองศาสตราจารย์น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมวิจัย ซึ่งได้รับโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติคุณจากนายกรัฐมนตรี และเงินรางวัลจากกองทุนส่งเสริม ววน. จำนวน  500,000 บาท

และรางวัลระดับดี จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ “ข้าวพันธุ์ใหม่จากเทคโนโลยีลำไอออน​เพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรไทย” ของ ดร.จิรณัทฐ์ เตชะรัง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมวิจัย และ “แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมืองผ่านระบบพูดคุยอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” ของ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. และทีมวิจัย โดยทั้ง 2 ผลงาน ได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากประธาน กสว. และเงินรางวัลจากกองทุนส่งเสริม ววน. จำนวน 100,000 บาท

2. สาขาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology)

รางวัลระดับดี จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ 1. “การพัฒนาพื้นลู่ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานอเนกประสงค์จากยางธรรมชาติ” ของ ดร.อรสา อ่อนจันทร์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ และ ทีมวิจัย 2. “ปุ๋ยคีเลตธาตุอาหารเพื่อเร่งการเจริญของพืช” ของ ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. และ ทีมวิจัย และ 3. “ลวดจัดฟันวัสดุฉลาดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดฟันของคนไทย” ของ รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ บริษัทสมาร์ทแมท อินโนเวชั่น จำกัด โดยทั้ง 3ผลงาน ได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากประธาน กสว. และเงินรางวัลจากกองทุนส่งเสริม ววน. จำนวน 100,000 บาท ส่วนรางวัลระดับยอดเยี่ยม ในปีนี้ไม่มีผู้ได้รับรางวัล

รวมถึง ผลงานต่างๆ ของหน่วยงานที่นำมาจัดแสดง โดยแบ่งธีมจัดแสดงผลงานออกเป็น 5 ธีม ได้แก่ ธีมที่ 1 ผลงานเด่นทางการแพทย์อาทิ N95 Mask, ชุดตรวจหาแอนติเจน, นวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจนบวกลบ และตรวจยีน “มะเร็งเต้านม” เป็นต้น ธีมที่ 2ผลงานเด่นทางด้าน AI เช่น แพลตฟอร์มรักษาความปลอดภัยของเมือง ธีมที่ 3 ผลงานเด่นทางด้านอาหารมูลค่าสูง เช่น การสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมด้านสารให้กลิ่นรสในประเทศไทย ธีมที่ 4 ผลงานเด่นทางด้านเศรษฐกิจฐานราก เช่น น้ำเพื่อการเกษตร…ด้วยระบบน้ำหยดสำหรับมันสำปะหลังและอ้อย และ ธีมที่ 5 ผลงานเด่นด้านสิ่งแวดล้อมเช่น ระบบวินิจฉัยและเครื่องมือประเมินการทำงานของโรงงานผลิตความเย็นสำหรับระบบปรับอากาศในเมืองอัจฉริยะ สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีงานวิจัยที่พร้อมใช้ประโยชน์อยู่จำนวนมาก และ การปลดลอคครั้งนี้ จะเป็นการปลดลอคครั้งสำคัญของวงการวิจัยไทย

องาสตราจารย์.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากผลงานนวัตกรรม ที่สามารถสร้างผลกระทบสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแล้ว ภายในงานมีกิจกรรมหลากหลายและแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ. ดังกล่าว อาทิ ตลาดทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมเจรจาเพื่อขออนุญาตใช้สิทธิ โซนคลินิกให้คำปรึกษาทรัพย์สินทางปัญญาและกฎระเบียบ  โซนนโยบายส่งเสริม ววน. โซนแผน ววน. และโปรแกรมการให้ทุน สำหรับผู้สนใจเรื่องแผนและงบประมาณหรือทุนสนับสนุน โซนร้านค้านวัตกรรมสำหรับประชาชนทั่วไปได้เห็นตัวอย่างของนวัตกรรมจากการวิจัยที่ออกสู่ตลาดแล้ว โซนแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม สะท้อนว่าเราจะก้าวตามทันประเทศอื่นด้านงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม และยังมีโซนสินเชื่อเพื่อนวัตกรรม โซนเทรนนิ่ง โซนเจรจาธุรกิจ โซนเวทีกลาง ที่มีการเสวนาหัวข้อต่างๆ ในหลากหลายมุมโดยวิทยากรมากความรู้ความสามารถกว่า 20 ท่าน ใน 7 เวที อาทิ เสวนา “Journey to Commercialization : การปลดล็อคการใช้ประโยชน์งานวิจัย สู่ตลาด” ตลอดจนเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงที่ประสบความสำเร็จ กรณีของการวิจัยสู่ละครโทรทัศน์ อย่าง ละครเจ้าพระยาสู่อิรวดี และการสร้างรถไฟฟ้ารางเบาที่แสดงศักยภาพของนักวิจัยไทยซึ่งเป็นเรื่องใหม่และเป็นโชว์เคส ประสบการณ์งานวิจัยที่ทุกคนสนใจเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การจัดงานในครั้งนี้ สกสว.และหน่วยงานร่วมจัดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะส่งผลให้เกิดจำนวนสิทธิบัตรมากขึ้นและมีการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายเพิ่ม GDP ของประเทศ 1.5% จากการลงทุนด้าน ววน. รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และประชาชน ในการนำผลงานวิจัย นวัตกรรมไปต่อยอดปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริการ เปลี่ยนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมต่อไป

งาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย TRIUP Fair 2022” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2565 เวลา 10.00-18.00 น. ณ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์

Comments

comments