ความสำเร็จของผู้ประกอบการ OTOP บน TikTok Shop น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คนที่กำลังอยากเริ่มลงมือทำ เรามีตัวอย่างของผู้ประกอบการที่เริ่มต้นด้วยทักษะดิจิทัลที่ไม่ได้มากมาย แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะไลฟ์ให้เป็น จึงมาเข้าร่วมฝึกฝนทักษะ และลองทำจนสามารถขายสินค้าได้ผ่านทาง TikTok Shop หรืออีกรายหนึ่งที่มีความรู้สึกเขินที่ต้องทำคอนเทนต์ผ่าน TikTok แต่ด้วยความน่าสนใจของตัวสินค้าประกอบกับคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ จึงทำให้เขาสามารถขายสินค้าได้ และมีกำลังใจที่จะใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นฐานในการสร้างคอนเทนต์ และขายสินค้าต่อจนพบความสำเร็จ และเพราะโครงการ #ช้อปได้ทุกถิ่น บน TikTok Shop ที่พร้อมจะติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการในเรื่องทักษะดิจิทัลอย่างเต็มที่ จึงเป็นโอกาสให้พวกเขาได้เก็บความรู้ไปเป็นแรงบันดาลใจ และต่อยอดทำให้ธุรกิจได้เติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดนิ่ง 

ด้วยเป้าหมายที่สอดคล้องกันกับเป้าหมายของกรมการพัฒนาชุมชน จึงเป็นที่มาให้ TikTok จับมือกับกรมการพัฒนาชุมชน โดยหลังเปิดโครงการ #ช้อปได้ทุกถิ่น บน TikTok Shop ที่ทาง TikTok ได้มีการจัดฝึกอบรมกับผู้ประกอบการ OTOP รวม 532 รายที่ได้เข้ามาร่วมฝึกฝนทักษะในการใช้ TikTok ในฐานะแพลตฟอร์มที่ควบรวมคอนเทนต์ และคอมเมิร์ซเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมนำเสนอประสบการณ์การช้อปปิ้งผ่านการรับชมคอนเทนต์ความบันเทิง (Shoppertainment) จนเกิดเป็นผลลัพธ์ของความสำเร็จที่เหล่าผู้ประกอบการ OTOP สามารถจัดจำหน่ายสินค้า OTOP ผ่าน TikTok Shop ได้มากกว่า 1,600 รายการ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มากกว่า 8.5 ล้านบาทในระยะเวลา 3 เดือนของเฟสแรกของโครงการ  

 

ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์สร้างคอนเทนต์ที่น่าเชื่อถือสู่ความสำเร็จของสินค้าจากบ้านเกิด 

ความมุ่งมั่นในการกลับบ้านเพื่อไปต่อยอดการทำงานด้านการเกษตรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ คุณโอวา – ธนาวัฒน์จันนิม เจ้าของผลิตภัณฑ์โอวาข้าวหอมมะลิแท้สุรินทร์ 100% เลือกใช้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง TikTok Shop เป็นช่องทางในการสร้างคอนเทนต์ที่ทั้งสนุกและน่าเชื่อถือเพื่อจำหน่ายสินค้าจากบ้านเกิด สู่การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ 

คุณโอวาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการนำสินค้ามาจัดจำหน่ายผ่าน TikTok Shop จนพบกับความสำเร็จว่า “ตอนที่เจอสถานการณ์โควิดจึงตัดสินใจกลับบ้านมาทำเกษตรกับครอบครัว เราอยากขายข้าวหอมมะลิสุรินทร์ที่เป็นสินค้าของบ้านเราให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เลยลองเริ่มใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และค่อยๆ สร้างฐานคนติดตามจนมียอดเกินหลักแสนคน จากนั้นพอ TikTok มี TikTok Shop ขึ้นมา เราก็คิดว่าน่าจะเป็นช่องทางให้ได้ขยายฐานลูกค้า เพราะเดิมก็ใช้ TikTok เพื่อความบันเทิงอยู่แล้ว และได้ศึกษาแพลตฟอร์มนี้มาก่อนในเบื้องต้น ประกอบกับการได้เข้ามาฝึกอบรมกับทางโครงการ #ช้อปได้ทุกถิ่น บน TikTok Shop ด้วย พอเริ่มทำเราเลือกที่จะลงคอนเทนต์สนุกๆ ภายในสัปดาห์แรกก็มีคนมาฟอลกันเป็นหมื่น เราก็เลยตั้งใจจะเป็น Content Creator เริ่มจากการเล่าเรื่องของตัวเอง เรื่องความเป็นเกษตรกร เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นก่อน เพราะสิ่งนี้จำเป็นมากๆ จากนั้น พอผู้ชมเชื่อใจเรา เราก็เล่าต่อว่าสินค้าเราทำมาเพื่ออะไร อยากตอบโจทย์ใคร ฯลฯ ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้พอเราเปิดตัวขายสินค้าของเราผ่าน TikTok Shop ก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เราคิดว่าการที่สินค้าของเราขายดี และถูกบอกต่อในแพลตฟอร์ม แสดงให้เห็นว่าทุกคนยอมรับในคุณภาพสินค้า และเชื่อถือในสิ่งที่เราทำ ซึ่งตรงนี้ถือว่ามีคุณค่ามาก” 

 

ขายได้เพราะไลฟ์พร้อมใส่ความแตกต่างให้กับสินค้า 

อีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการ OTOP คือ คุณทัศ – ทัศยา มีมูลทอง เจ้าของสินค้ารองเท้าหนังวัวแท้ by ทิศรา ซึ่งเริ่มต้นด้วยการไลฟ์ไม่เป็น แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ จึงก้าวมาพบความสำเร็จในการจำหน่ายสินค้าที่มีความแตกต่างไปจากคนอื่นผ่าน TikTok Shop ในที่สุด 

คุณทัศเล่าถึงที่มาที่ไปของการได้เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในผู้ขายสินค้า OTOP ผ่านทาง TikTok Shop ว่า “มีโอกาสได้เข้าร่วมการอบรมของกรมการพัฒนาชุมชนที่มาคัดเลือกผู้ประกอบการในจังหวัดนนทบุรี โดยมีเจ้าหน้าที่จาก TikTok Shop มาเป็นวิทยากรเองเลย ส่วนตัวคือไลฟ์ไม่เป็น และที่ไปเข้าร่วมการอบรมก็เพราะอยากไลฟ์ให้ได้ ก็โฟกัสที่เรื่องนี้เป็นหลักเลยค่ะ พอเริ่มเข้าใจวิธีการก็เอากลับมาใช้ไลฟ์ทุกวันเพื่อขายรองเท้าหนังวัวแท้ซึ่งเป็นสินค้าของเรา รองเท้าของเรามีจุดเด่นที่การเย็บขอบรอบพื้น ซึ่งจะทนทานกว่าการใช้กาว และที่สำคัญคือเราใส่ใจทุกรายละเอียด ผลิตใหม่ทุกคู่ตามรูปร่างเท้าของลูกค้าเพื่อให้ตรงกับสรีระของผู้สวมใส่ เป็นจุดเด่นที่เราตั้งใจคิดมาเพื่อให้การขายออนไลน์ของเราแตกต่างไปจากร้านค้าทั่วไป โดยเรานำเสนอเป็นเหมือนคอนเทนต์ให้ลูกค้าเลือกสั่งรองเท้าที่สามารถปรับตามขนาดรูปเท้าได้ถึง 7 แบบ ซึ่งก็ทำให้เรามียอดขายเข้ามาอย่างต่อเนื่องทุกวัน แต่ก็คิดว่าเรายังต้องเรียนรู้ต่อไปค่ะ ทั้งเรื่องเทคนิคการให้ส่วนลดโปรโมชันระหว่างหน้าไลฟ์กับการขายปกติเพื่อที่จะต่อยอดให้ตัวเอง ซึ่งในเรื่องนี้ทาง TikTok Shop ก็ให้ความช่วยเหลือกับเราอย่างเต็มที่” 

 

จากโรงงานทอผ้าสู่กิจการผ้าขาวม้าแปรรูปที่โดนใจใครหลายคน 

การคิดใหม่ทำใหม่อย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อต่อยอดธุรกิจของครอบครัวซึ่งเป็นโรงงานทอผ้าจากตำบลบ้านไร่ จังหวัดราชบุรี ประกอบกับการได้เข้ามาร่วมฝึกอบรมกับทาง TikTok Shop และกรมการพัฒนาชุมชนในโครงการ #ช้อปได้ทุกถิ่น บน TikTok Shop คือจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จของคุณเอก – เอกสิทธิ์ โกมลกิตติพงศ์ เจ้าของแบรนด์อิมปานิ ผ้าขาวม้าบ้านไร่ 

คุณเอกจากแบรนด์อิมปานิ (IMPANI PAKAOMA) ซึ่งนำผ้าขาวม้ามาแปรรูปเป็นเสื้อผ้าและของใช้หลากหลาย เล่าว่า เมื่อเขาได้พบกับช่องทางออนไลน์อย่าง TikTok Shop ก็นำไปสู่ความสำเร็จที่คาดไม่ถึง “ที่บ้านเราทำโรงงานทอผ้ามาตั้งแต่ปี 2516 ผมเป็นรุ่นที่ 3 ที่เข้ามาต่อยอดก็เริ่มมองเห็นว่าผ้าขาวม้าเริ่มไม่เป็นที่นิยม เราก็เลยมองในมุมของคนรุ่นใหม่ว่าผ้าขาวม้าน่าจะไปต่อได้ด้วยการปรับสี และลายผ้าใหม่ให้ดูมีความน่าใช้งานมากขึ้น สวยขึ้น ประกอบกับเรื่องคุณสมบัติของผ้าขาวม้าบ้านไร่ซึ่งเป็นผ้าที่แห้งไว ไม่เกิดเชื้อรา และกลิ่นอับ ตากในที่ร่มก็แห้งไว ยิ่งซักยิ่งนิ่มเพราะผลิตจากด้ายฝ้ายเป็นหลัก ทั้งหมดนี้เป็นจุดเด่นของสินค้าที่เรามี พอได้มาเข้าร่วมโครงการกับทาง TikTok Shop และกรมการพัฒนาชุมชน เราได้เรียนรู้เรื่องการถ่ายวิดีโอ แม้ว่าจะเก้ๆ กังๆ ในตอนแรก เพราะค่อนข้างไม่คุ้นชิน เลยทำคลิปแบบเน้นภาพ และตัดต่อนิดหน่อย แต่ผลตอบรับก็ค่อนข้างดี ทำให้คนเห็นสินค้าของเรามากขึ้นมาก และทำยอดขายทางออนไลน์ได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นซึ่งสำหรับเราถือว่าเหนือความคาดหมาย ทั้งหมดนี้อาจจะเพราะเราเลือกทำคอนเทนต์เกี่ยวกับกระบวนการผลิตซึ่งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเรา เพราะทุกคนที่ดู TikTok จะเห็นว่าเรามีโรงงานจริง การันตีคุณภาพได้ ก็ต้องขอบคุณ TikTok Shop ที่เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้กับเรา และยังสนับสนุนเราเต็มที่ในทุกๆ ด้านครับ” 

 

ฝึกฝนทักษะดิจิทัลให้เต็มที่เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ 

การฝึกอบรมทักษะดิจิทัลเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ OTOP เป็นอย่างมาก เพราะช่วยเปิดทางให้ผู้ประกอบการสามารถนำทักษะไปใช้ในการต่อยอดธุรกิจของตนเองให้เติบโตและเข้าถึงผู้บริโภคด้วยช่องทางใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว นี่จึงเป็นเหตุผลที่คุณฤทธิชัย ปันจันตา เจ้าของแบรนด์สมุนไพรสุเมธแผนโบราณ ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายสินค้าของตนเองผ่านช่องทาง TikTok Shop  

คุณฤทธิชัย เจ้าของแบรนด์สมุนไพรสุเมธแผนโบราณ กล่าวว่า “ทักษะทางดิจิทัลที่เราได้รับจากการฝึกอบรมโดย TikTok และกรมพัฒนาชุมชน ไม่เพียงทำให้เราเข้าใจถึงการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์ม TikTok Shop มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเปิดทางให้เราสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ และเปิดโอกาสทางอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยเราได้เรียนรู้ทักษะทางดิจิทัลมากขึ้น ได้รับความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และ ข้อมูลเชิงลึกต่างๆ ที่มีประโยชน์ สามารถนำมาต่อยอดกับธุรกิจของเราได้”  

 

ในขณะที่ คุณอัครวิทย์ เมฆเจริญ เจ้าของแบรนด์ผลไม้อบแห้งระดับพรีเมียม Netafruit ได้เข้ามาเรียนรู้กลยุทธ์ทางการตลาด และการเลือกใช้เครื่องมือต่าง ๆ ทางดิจิทัลเพื่อก้าวสู่การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง TikTok Shop จนประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน 

คุณอัครวิทย์กล่าวว่า “โครงการนี้สามารถช่วยให้เข้าถึงกลยุทธ์ทางการตลาด และเครื่องมือต่างๆ และได้รับความรู้จากการฝึกอบรม ซึ่งไม่เพียงเสริมสร้างประสบการณ์ดีๆ เท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นที่รู้จักในระดับประเทศช่วยให้มีฐานลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้น” กล่าวเสริม 

โครงการ #ช้อปได้ทุกถิ่น บน TikTok Shop ที่ TikTok จับมือกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้สินค้า OTOP จากทั่วประเทศไทยได้มีช่องทางออนไลน์ช่องทางใหม่ในการส่งมอบสินค้าไปยังคนไทยในวงกว้างมากขึ้น และ TikTok Shop ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะการฝึกอบรมเพื่อให้พวกเขาสามารถใช้แพลตฟอร์มที่รวมความเป็นคอนเทนต์ และคอมเมิร์ซเข้าด้วยกันได้อย่างดีที่สุด ความตั้งใจของ TikTok Shop คือการให้การสนับสนุนธุรกิจรายย่อยและขนาดย่อม โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท และชานเมือง ให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อยกระดับขีดความสามารถ ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะเป็นการสนับสนุนการเติบโตของรายได้ของประเทศ  

ทั้งนี้ ความสำเร็จที่โครงการได้รับในวันนี้นับเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น และแน่นอนว่าจะต้องมีก้าวต่อๆ ไปที่แพลตฟอร์ม TikTok Shop จะช่วยนำพาความสำเร็จที่มากขึ้นมามอบให้กับประกอบการรายย่อยเจ้าของสินค้า OTOP ทั่วประเทศไทย 

มาช้อปสินค้า OTOP แบบ #ช้อปได้ทุกถิ่น บน TikTok Shop ได้แล้ววันนี้  

 

Comments

comments