ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการ กสทช. (ด้านกฏหมาย) และภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน พร้อมด้วย ทรู คอร์ปอเรชั่น โดย นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร ร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับ แนวทางการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวง ทางออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย และบริการโทรคมนาคม และการบังคับใช้พระราชกำหนดมาตรการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 ในเวทีเสวนาแนวทางการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวง ทางออนไลน์ฯ จัดโดยคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ร่วมกับ คณะอนุกรรมาธิการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
.

.
นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ทรู คอร์ปอเรชั่น พร้อมสนับสนุนมาตรการต่างๆของภาครัฐเพื่อป้องกันภัยมิจฉาชีพออนไลน์ ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม นอกจากการปฏิบัติตามกฎหมาย ตามที่ พ.ร.ก.ฉบับใหม่ออกมามีผลบังคับใช้แล้ว ทรูยังมีหน้าที่ในการดูแลลูกค้าผู้ใช้บริการให้มีความปลอดภัย โดยที่ผ่านมาทรูได้มีมาตรการต่างๆ ทั้งการเข้าไปควบคุมเสาสัญญาณไม่ให้ล้ำแดนเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพใช้ช่องโหว่เรื่องของสัญญาณในการนำมาใช้โทรหลอกลวงคนไทย ส่วนการให้บริการอินเทอร์เน็ต ทรูได้มอนิเตอร์การใช้งาน หากพบว่าใช้งานมากผิดปกติ ก็จะเข้าไปดูข้อมูลย้อนหลัง รวมถึงการลงทะเบียนซิม ซึ่ง พ.ร.ก. ฉบับใหม่ให้อำนาจกับบริษัทผู้ประกอบการปรับระบบการลงทะเบียน ให้ครบถ้วน ไม่ใช่แค่การใช้บัตรประชาชนมายื่นเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ทรูยังพัฒนาระบบ True CyberSafe ป้องกันระดับเน็ตเวิร์ก สำหรับลูกค้าทรูและดีแทค โดยนำข้อมูลที่เป็น data จากศูนย์ AOC และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงจากลูกค้าของทรูและดีแทค ที่โทรแจ้งเข้ามา หากพบว่าเป็นเบอร์ของมิจฉาชีพ ก็จะมีการแจ้งเตือน และบล็อคลิงค์ข้อความทันที ซึ่งตั้งแต่เริ่มให้บริการ 3 ธันวาคม 2567 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 สามารถปกป้องลูกค้าจากการคลิกลิงก์แปลกปลอมได้แล้วถึง 819 ล้านครั้ง (โดยเฉลี่ย 7 ล้านครั้งต่อวัน) คิดเป็น 98.7% ซึ่งขณะนี้มีลิงก์สุ่มเสี่ยงในระบบ True CyberSafe มากกว่า 165,000 ลิงก์ และจะเพิ่มต่อเนื่อง สำหรับส่วนที่ยังเหลืออีกเกือบ 2 % ยังต้องมีการสร้างความรู้และความเข้าใจร่วมกัน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ”
.

.
“อย่างไรก็ตาม สำหรับพ.ร.ก.ฉบับใหม่นี้ ทรู มองว่า สิ่งที่ยังถือเป็นความท้าทายในวันนี้ คือ กฎหมายฉบับใหม่ที่ออกมา กับเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล จะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร เพื่อช่วยป้องกันประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางออนไลน์ และไม่ให้กระทบกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม” นายจักรกฤษณ์ กล่าวสรุป