ตอกย้ำสถานีข่าวคุณภาพที่ “ทันโลก ทันเศรษฐกิจ ทันทุกความจริง” TNN ช่อง 16 จัดงานดินเนอร์ทอล์คครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี ในหัวข้อ “Mission Thailand: ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ” เพื่อเปิดเวทีให้ทุกท่านได้รับทราบทิศทางการบริหารเศรษฐกิจจากผู้นำสูงสุดของรัฐบาล และรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ รวมทั้งเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน ร่วมตีโจทย์เศรษฐกิจไทย ฝ่าด่านความท้าทายเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะมาตรการภาษีระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์ ตลอดจนแนวทางส่งเสริมการส่งออก การท่องเที่ยว และการพัฒนาอุตสาหกรรม งานจัดขึ้น ณ ห้องแมกโนเลียบอลรูม โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย โดยมี นายองอาจ ประภากมล หัวหน้าสายงานทรูวิชั่นส์และมีเดีย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด เป็นประธานเปิดงานและกล่าวต้อนรับ
.
.
ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ แสดงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์สำคัญในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมเน้นย้ำถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเปิดเวทีเจาะลึกลงรายละเอียดกับ 4 กระทรวงสำคัญด้านเศรษฐกิจ และตัวแทนองค์กรภาคเอกชนชั้นนำ ที่จัดขึ้นในรูป “เอกชนถาม ภาครัฐตอบ” นับเป็นครั้งแรกที่ให้ภาคเอกชนถาม  ภาครัฐกันสด ๆ บนเวที โดยมีผู้นำและบุคคลสำคัญในวงการเศรษฐกิจเข้าร่วมงาน อาทิ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร คุณชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ คุณศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหารกลุ่มเดอะมอลล์ คุณสุทธิภัค จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล รวมถึงตัวแทนจากภาคเอกชนอีกมากมาย
.
.
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง “กรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยจากระดับ “มีเสถียรภาพ”เป็น “เชิงลบ” การปรับลดดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงความขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย แต่เป็นการประเมินของมูดีส์ เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2008 และประเทศไทยสามารถฟื้นฟูสถานะกลับมาเป็น “มีเสถียรภาพ” ได้อย่างรวดเร็ว”
.
.
ในช่วงเวที “เอกชนถาม ภาครัฐตอบ” ระหว่าง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้หารือในหัวข้อสำคัญ “แผนปั้นจีดีพีไทย ฝ่าด่านภาษีทรัมป์” ทางด้าน คุณเกรียงไกร เผยว่า “ภาคเอกชนมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามการค้าและมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ได้รับภาษีในอัตราสูง โดยมีอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบถึง 24 กลุ่มจากทั้งหมด 47 กลุ่ม พร้อมตั้งคำถามถึงภาครัฐเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงและส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน” ด้านรองนายกรัฐมนตรีพิชัย กล่าวว่า “รัฐบาลเร่งดำเนินมาตรการเพื่อปรับสมดุลทางการค้า หนึ่งในแนวทางที่สำคัญคือการส่งเสริมการนำเข้าสินค้าเกษตรและพลังงานจากสหรัฐฯ พร้อมจัดการปัญหาการผ่านสินค้าจากประเทศที่สาม ภายใต้กรอบ “5 Pillars” เพื่อสร้างความมั่นคงและสมดุลทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”
.

สำหรับหัวข้อ “ดันส่งออกไทย พลิกเกมการค้าโลก” ระหว่าง นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดย ดร.พจน์ กล่าวถึง “ผลกระทบจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่มีต่อผู้ส่งออกไทย ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 18 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าไปยังจีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร” นายพิชัย ยืนยันว่า “การเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน โดยมั่นใจว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้การส่งออกจะเติบโตร้อยละ 3 โดยตัวเลขส่งออกในช่วง 3 เดือนแรกเติบโตร้อยละ 15.2 นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังเข้มงวดในการป้องกันปัญหาสวมสิทธิ์การส่งออก และดำเนินการจับกุมนอมินีแล้วกว่า 856 บริษัท คิดเป็นเงินจดทะเบียนกว่า 15,000 ล้านบาท พร้อมย้ำว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาว”

.
ต่อด้วยหัวข้อ “ทางรอดอุตสาหกรรมไทย ในสมรภูมิรบการค้าโลก” นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต เน้นย้ำความสำคัญของการจัดการปัญหาอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ โดยกระทรวงมีมาตรการตรวจสอบและดำเนินคดีต่อโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ก่อมลพิษ เช่น เหล็กเตาอินดักชั่น พร้อมผลักดันร่างกฎหมายจัดการกากอุตสาหกรรม เพื่อควบคุมการทิ้งของเสียอันตรายอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ปลอดภัย และแข่งขันได้ในระดับสากล
.

ปิดท้ายสัมมนาในหัวข้อ “ปั๊มหัวใจท่องเที่ยวไทย ดูดรายได้ต่างชาติ” จากนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับ นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) เผยถึงความกังวลเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง โดยเวียดนามแซงหน้าไทยในตัวเลขล่าสุด กระทรวงฯ เร่งมาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวด้วย การสื่อสารความปลอดภัยผ่าน KOL ชาวจีน และเชิญรัฐมนตรีท่องเที่ยวจีนมาเยือนไทย พร้อมพิจารณามาตรการจูงใจ เช่น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว อีกทั้งยังสนับสนุนแนวคิดสร้างสถานบันเทิงครบวงจรในจังหวัดรอง เพื่อกระจายรายได้สู่ภูมิภาค และขอความร่วมมือภาคเอกชนดูแลค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความประทับใจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทย

งานดินเนอร์ทอล์คครั้งนี้ ได้รับกระแสตอบรับอย่างดี ทั้งจากผู้เข้าร่วมงานและผู้ชมถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ TNN2 ทรูวิชั่นส์ ช่อง 784 และช่องทางออนไลน์ Facebook, YouTube และ Tiktok เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้สามารถติดตามข่าวสาร กิจกรรมที่น่าสนใจได้ทาง TNN ช่อง 16 และทุกแพลตฟอร์มออนไลน์

Comments

comments