กรุงศรี ฟินโนเวต (Krungsri Finnovate) ประเดิมจัดเสวนาออนไลน์เป็นครั้งแรกผ่าน Clubhouse แพลตฟอร์มสนทนาเรียลไทม์สุดฮอต กับหัวข้อพูดคุยโดนใจสตาร์ทอัพ “KFIN in the House: จุดเปลี่ยนก่อนโตแบบ Hockey Stick” ที่จะพาผู้ฟังชาวคลับเฮ้าส์เรียนรู้ทุกย่างก้าว และจุดเปลี่ยนก่อนจะโตแบบหักมุมไต่ระดับสูงขึ้นไปไม่หยุดยั้ง ผ่านประสบการณ์ของ 3 สตาร์ทอัพรุ่นพี่ อย่าง แอพแมน (Appman) รีคัลท์ (Ricult) และ ช็อคโก้ ซีอาร์เอ็ม (ChocoCRM) โดยมีทีมKrungsri Finnovate (KFIN) ร่วมในการสนทนาและถกถึงประเด็นการเติบโตของสตาร์ทอัพกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง

            แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ Krungsri Finnovate เปิดเผยถึงความตั้งใจเปิดห้องสนทนา Clubhouse ขึ้นในวันนี้ เพื่อชวนคุยกับคนที่กำลังจะเดินเข้าสู่สนามสตาร์ทอัพ หรือสตาร์ทอัพที่ต้องการจะยกระดับการเติบโตให้สูงขึ้น โดยพูดถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ธุรกิจกำลังจะเริ่มโตแบบไต่ระดับ หรือที่เรียกกันว่า Hockey Stick Growth ถึงความหมาย วิธีการอัพสเกลสร้างการเติบโต ช่วยจุดประกายไอเดียสำหรับสตาร์ทอัพนำไปปรับใช้ได้ทันที ผ่านการระดมสมองพูดคุยอย่างออกรสและเป็นกันเองของสตาร์ทอัพรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จสูง ประกอบด้วย AppMan ผู้นำแอพลิเคชั่นด้าน InsurTech ของไทย และ Ricult ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจการเกษตรครบวงจร และ ChocoCRM แพลตฟอร์มช่วยบริหารจัดการธุรกิจ ลูกค้าและการวางแผนการตลาด

            ตลอดการสนทนากว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง ทั้งสามธุรกิจต่างสลับกันพูดคุยร่วมกับทีม KFIN เริ่มจากความเป็นมาของธุรกิจ และความสำคัญของพาร์ทเนอร์ โดยเฉพาะธุรกิจร่วมลงทุนหรือ Venture Capital ที่จะช่วยเร่งความแรงของ Hockey Stick ให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วและตรงเป้าหมายได้มากที่สุด ซึ่งก่อนจะกระโดดเข้าสู่การเป็นสตาร์ทอัพนั้น ทั้งสามรายเริ่มต้นด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะการเข้าหาลูกค้า และการผลักดันให้ลูกค้าเข้าใจในผลิตภัณฑ์ แต่ทุกคนมองเห็นโอกาสจากการทำธุรกิจที่ยังไม่มีผู้เล่นในตลาดและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเฉพาะเจาะจง พร้อมกับมั่นใจว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้จริง เห็นฟีดแบคจากลูกค้านำไปพัฒนาโปรดักส์ในอนาคต ซึ่งส่งผลต่อทิศทางเติบโตสูง 

            จอมกัมปนาท วิมลโนท Head of Investment & Strategic Partnership ของ Krungsri Finnovate กล่าวว่า ทั้งสามธุรกิจเป็นตัวอย่างที่ดีในการเข้าถึงลูกค้าโดยตรงและทำความเข้าใจ Stakeholder อย่างลึกซึ้ง สามารถเรียนรู้ช่องทางการขาย กระบวนการธุรกิจของลูกค้าจริงๆ ซึ่งพวกเขาคือโมเดลธุรกิจที่ทำให้ทุกคนเห็นว่าสินค้าไม่จำเป็นต้องแปลกใหม่ที่สุด ขอเพียงทำโปรดักส์ที่คนใช้ได้จริง เป็นเรื่องพื้นฐานแต่สามารถแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า และต่อยอดได้ จากนั้นเมื่อมาถึงจุดที่มีเสถียรภาพที่สุด ก็ทุ่มเงินทุนและลงกำลังแรงทั้งหมดที่มี ทำซ้ำสิ่งนั้นเพื่อให้โตขึ้นไปได้อีก ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้สตาร์ทอัพอัพสเกลขึ้นไปแบบ Hockey Stick ได้แล้ว

สำหรับจุดที่จะทำให้สตาร์ทอัพพร้อมที่จะทะยานแบบ Hockey Stick นั้น มิวอมฤต ฟรานเซน กรรมการบริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ AppMan เผยว่า จำเป็นต้องวัดที่ยอด CRM Track ที่ลูกค้าจะให้ฟีดแบคสั่งซื้อเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง ตลอดจนมีการพัฒนาโปรดักส์ใหม่แล้วส่งให้ลูกค้าทดลองใช้แล้วได้รับการตอบรับที่ดีเสมอ เช่นเดียวกับไมค์-สิรสิทธิ์ สุริยพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช็อคโก้ คาร์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เลือกที่จะใช้ OKRเครื่องมือในการตั้งเป้าหมายและกำหนดตัววัดผลมาใช้ก่อนที่จะมั่นใจในการอัพสเกลธุรกิจ รวมทั้งการเข้าถึงลูกค้ารายใหญ่ได้สำเร็จ สามารถต่อยอดลูกค้าสร้างคอนเน็คชั่นได้ ซึ่งอาจเป็นตัวตั้งต้นทางความคิดให้สตาร์ทอัพรู้แล้วว่าพวกเขาพร้อมที่จะเติบโตทะลุเพดานได้แล้ว

ทั้งนี้ นอกจากแนวคิดของผู้ก่อตั้ง (Founder) จะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สตาร์ทอัพเติบโตแบบก้าวกระโดด คือการเข้ามาของ Stakeholder หรือ Partner ซึ่งเอิร์นอุกฤษ อุณหเลขกะ Co-Founder และ Chief Product Officer ของ Ricult ให้ความเห็นว่า พาร์ทเนอร์มีส่วนช่วยในการผลักดันธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะการสร้างคอนเนคชั่น ทั้งในด้านจำนวนลูกค้า ประสิทธิภาพการทำงาน และการช่วยหา Co-Founder ที่จะช่วยแก้ปัญหาและมี Complementary Skill ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยง Business Unit ต่างๆ ได้อย่างตรงจุด 

อีกทั้งการเข้ามาร่วมลงทุนของ Venture Capital ยังเห็นได้ชัดเจนในเรื่องการสร้าง Ecosystem อีกด้วย ยกตัวอย่างกรุงศรี โดย Krungsri Finnovate ลงทุนใน Tech Startupก็จะแนะนำเทคนั้นๆ ให้ลูกค้านำมาใช้พัฒนาธุรกิจ และเพื่อการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตจำเป็นต้องลงทุน ลูกค้าก็จะกลับมาใช้บริการของธนาคารเพื่อลงทุนเพิ่มในธุรกิจ จึงเป็นวัฏจักรทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยม 

นอกจากนั้น ระหว่างการพูดคุยในหัวข้อ “KFIN in the House: จุดเปลี่ยนก่อนโตแบบ Hockey Stick” ในห้องสนทนา Clubhouseยังตอกย้ำถึงความกล้าตัดสินใจให้สถาบันการเงิน Venture Capital เข้ามาผลักดันธุรกิจของสตาร์ทอัพ รวมทั้งการผ่าน Accelerator หรือศูนย์บ่มเพาะนั้นช่วยเร่งความเร็วให้กับสตาร์อัพได้ ซึ่งผู้บริหาร AppMan เผยว่า การเข้ามาของ VC ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของธุรกิจด้วยนั้น สร้างความเข้าถึงและเข้าใจในตัวธุรกิจได้มากกว่า และยังทำให้ตัวสตาร์ทอัพสร้างบทบาทความรับผิดชอบในธุรกิจของตนมากขึ้น ทั้งความสม่ำเสมอในการรายงานและอัพเดทการทำธุรกิจกับ VC ถือเป็นการ Transform องค์กร ทำให้เป็น Enterprise ได้เร็วและมีโอกาสพบลูกค้าได้กว้างกว่าที่เคย ผลักดันสู่ความกล้าที่จะตัดสินใจเพิ่มกำลังคนรองรับการขยายตัวของธุรกิจนั่นเอง

            สำหรับการเสวนาออนไลน์ “KFIN in the House: จุดเปลี่ยนก่อนโตแบบ Hockey Stick” ในครั้งแรกนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยก่อนจบการสนทนาในห้อง Clubhouseทีม KFIN ได้ทิ้งท้ายถึงการสร้างสรรค์หัวข้อสนทนาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแนะนำโปรแกรม Meet the Angels ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อช่วยกลุ่ม Early Stage Startup ที่ได้รับผลกระทบและมีความต้องการระดมทุน หรือมองหา Partnership ภายใต้การดูแลของ Krungsri Finnovate และพันธมิตรทางธุรกิจ True Digital Park โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้กลุ่Angel Investor หรือผู้ที่สนใจอยากลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพได้ทำความรู้จักกันต่อยอดธุรกิจในรูปแบบ Virtual Pitching  และล่าสุดกับงานMeet the Angel The Finalist ในรูปแบบออนไลน์อีเว้นต์ เป็นการคัดท็อป 5 ขึ้นมา Pitching เพื่อค้นหา Champion of the Year ประจำปี 2020 โดยในงานจะเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ (Public) มีการพูดคุยถึงเรื่องการลงทุนและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันผ่านช่องทาง Facebook Live ของ Krungsri Finnovate ในวันพุธที่ 24 มีนาคม เวลา 19.00 . เป็นต้นไป

Comments

comments