สถาบัน IEEE (The Institute of Electrical and Electronics Engineers) ซึ่งเป็นสถาบันเกี่ยวกับวิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ ได้ออกมาเปิดเผยรายงานที่ศึกษาถึงบทวิจัยเกี่ยวกับการแผ่คลื่นความถี่วิทยุ โดยเฉพาะคลื่นความถี่ที่นำมาใช้งานกับโครงข่าย 5G รวมถึงข้อมูลทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยของพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าจากโครงข่ายการสื่อสารไร้สาย 5G ที่พบว่า ระดับความแรงของตัวคลื่นความถี่ย่านที่ต่ำกว่า 6 GHz ลงไป จนถึงคลื่นความถี่ในระดับ mmWave (Milimeter Wave : คลื่นมิลลิเมตร) ที่ใช้งานอยู่ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ขีดจำกัดความปลอดภัยที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานสากล ที่เรียกว่า “ระดับอ้างอิงการสัมผัสคลื่นตามมาตรฐานของ IEEE และ ICNIRP คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านการป้องกันรังสีชนิดไม่ก่อไอออน : International Commission on Non-Ionizing Radiation Protection

โดยทาง กสทช.ก็ได้นำระดับอ้างอิงนี้ มาใช้เป็นตัวชี้วัดระดับในการสัมผัสคลื่นความถี่ในประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาผลการสุ่มวัดโดย กสทช. พบว่าระดับการสัมผัสคลื่นที่แผ่มาจากโอเปอเรเตอร์ทุกรายต่ำกว่าระดับอ้างอิงเป็นหลักหลายร้อยหลายพันเท่า นั่นแปลว่าในส่วนของการสัมผัสคลื่นความถี่นั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์

อีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้เกิดความกังวลคือการที่จำนวนของสถานีฐาน 5G เพิ่มขึ้น ในมุมของประชาชน อาจเข้าใจว่ายิ่งตัวเลขเพิ่มมากขึ้น จาก 3G เป็น 4G และ 5G ความแรงของคลื่นความถี่ที่แผ่รังสีออกมาจะยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้นนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะในความเป็นจริงยิ่งคลื่นความถี่สูงเท่าไหร่ ระดับการแผ่รังสีออกมายิ่งต่ำ และทะลุทะลวงได้น้อยกว่าเดิม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ 3G 4G 5G ที่ปัจจุบันโอเปอเรเตอร์ในไทยนำมาใช้งาน อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับอ้างอิงการสัมผัสคลื่นหลายเท่า จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US Food and Drug Administration, FDA) ก็ได้เข้าไปศึกษาในหัวข้อที่เกี่ยวกับความอันตรายของคลื่นความถี่วิทยุต่อการเกิดมะเร็งในช่วงปี 2008 – 2018 ที่เข้าไปศึกษาคลื่นความถี่ระหว่าง 800 – 2500 MHz ก็ไม่พบหลักฐานเพียงพอที่จะรับรองความสัมพันธ์ระหว่างการตอบสนองของระดับพลังงานคลื่นที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์

สุดท้าย ภายในรายงานของ IEEE ยังอ้างอิงไปยัง คณะกรรมการส่วนที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (COMAR) ที่สรุปว่า ยังไม่พบรายงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสคลื่น จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงพิจารณาให้ความอันตรายจากการสัมผัสคลื่น 5G นั้นอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าคลื่น 5G ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้งาน

ที่มา : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7337122/

Comments

comments