วันนี้กสทช. เปิดรับฟังความเห็นต่อการควบรวมกิจการ TRUE-DTAC โดยมี Road Maps 3 รอบ เริ่มจากรับฟังความคิดเห็นในวงจำกัด (Focus Group) กลุ่มแรกคือ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง  ครั้งที่ 2 เป็น Focus Group ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ และ ครั้งที่ 3 เป็น ผลกระทบต่อผู้บริโภค ทาง TelecomLover ขอสรุปความคิดเห็นที่ยกขึ้นมาพูดคุยและให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์กับผู้อ่านและสมาชิกในมุมมองของคนที่เฝ้าจับตาอภิมหาดีลนี้ว่าจะจบลงเช่นไร

กลุ่มธุรกิจตบเท้าเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

ทาง กสทช. ร่อนจดหมายเชิญภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ eco system โทรคมนาคม เป็นต้นว่า AIS DTAC TRUE NT และบรรดา Supplier Vendor สมาคม/สหภาพต่าง ที่เกี่ยวข้องให้มาร่วมแสดงความคิดเห็น เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีผู้แทนจากดีแทคและทรูมาร่วมแสดงความคิดเห็นในวันนี้

AIS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ ให้ความเห็นว่า AIS พร้อมแข่งขันตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม เห็นว่าเป็นการลดการแข่งขันจาก 3 โครงข่าย ทำให้การแข่งขันลดลง จากการต่อสู้กันอย่างเข้มข้นเป็นสัญญาณการสิ้นสุดของสงครามราคาที่ดำเนินมากกว่า 20 ปี AIS มีความรับผิดชอบต่อสังคมและไม่อยากถูกบันทึกว่าเป็นผู้ที่สนับสนุนหรือทำให้เกิดการควบรวมในครั้งนี้ จึงต้องออกมาคัดค้านให้เป็นหลักฐานปรากฎ และ AIS ได้รับความเสียหายอันเกิดจากผู้ควบรวมหลังควบจะถือครองคลื่นความถี่มากกว่าที่ กสทช กำหนด และควรเยียวยาความเสียหายของAIS ที่ได้รับในกรณีนี้ด้วย

เอาจริง AIS ดำเนินกิจการมาตลอด 32 ปี ก็ไม่น่าจะเคยคิดว่าวันนึงจะต้องมาเหลือคู่แข่งแค่รายเดียว ดังนั้นความตั้งใจหรือความทุ่มเท การลงทุน และหัวใจของความสำเร็จของ AIS คือคุณภาพของการบริการเป็นหลัก การทำให้เกิดคุณภาพไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา ใช้ทรัพยากร ใช้ความพยายามไม่ว่าจะการลงเสาเยอะกว่ารายอื่น ตั้งแต่เริ่มต้น การประมูลคลื่นความถี่มากสุดในทุกครั้งของการแข่งขันประมูลคลื่น การดูแลลูกค้า บริการหลังการขาย ทุกอย่างรวมกันทำให้เกิดความสำเร็จ สร้างฐานลูกค้าขนาดใหญ่มาตลอด ถึงแม้จะมีข้อสังเกตุว่าอัตราค่าบริการนั้นจะไม่ใช่จุดเด่นจะเรียกว่าเป็นจุดด้อยก็ว่าได้ แต่ AIS ก็ยังได้รับความนิยมสูงสุดมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อบริบทของการแข่งขันจะถูกเปลี่ยนไป อาวุธ หรือคลื่นความถี่จะถูกใช้งานตามราคาที่ต้องจ่ายอย่างไม่เป็นธรรมAIS จึงแสดงความเห็นให้เป็นหลักฐานไว้ตามที่ตัวแทนได้มาชี้แจง

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ให้ความเห็นว่า การควบรวมทำให้เหลือผู้เล่นเพียง 2 รายนั้นน้อยเกินไป ทำให้มีการเกิดสภาพกึ่งผูกขาด เป็นลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก ด้วยสภาพตลาดผู้เล่นน้อยราย ผู้เล่นจะมีอำนาจกำหนดราคาได้เอง รัฐจะเข้าไปกำกับดูแลราคาได้ยากเพราะ รธน.ส่งเสริมเฉพาะการแข่งขันแบบเสรีและเป็นธรรม ผลประโยชน์จะตกสู่ผู้เล่นน้อยรายแทนที่จะตกสู่ผู้บริโภค ควรปล่อยให้แข่งขันกัน ไม่ควรไปบิดเบือนตลาด

“ตรงนี้ NT ค่อนข้างชัดเจนเรื่องนวัตกรรมต่าง ๆ ที่อ้างว่าจะเกิดขึ้นหลังควบรวมนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องเลย เพราะการแข่งขันสูงสุดย่อมทำให้เกิดความแตกต่างในการบริการ แต่ละผู้เล่นย่อมพยายามคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ มานำเสนอเพื่อให้การใช้งานไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุด และอัตราค่าบริการภายหลังควบรวมที่มองว่าจะให้ กสทช.เข้ามาควบคุม ก็เป็นไปได้ยากเพราะขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของประชาชนสำหรับค่าบริการหนึ่งใน infrastucture เช่นเดียวกับค่าน้ำ ค่าไฟที่มีผู้เล่นน้อยราย”

กลุ่มตัวแทนอุตสาหกรรม กลุ่มเคเบิ้ลทีวี ระบุผลกระทบการควบรวมคือทำให้เกิดตัวเลือกน้อยลงประชาชนผู้บริโภคไม่คุ้นชินกับการแข่งขันที่มีทางเลือกน้อยๆ ทำให้ราคาสูงขึ้นหรือเท่าเดิมอันขึ้นอยู่กับการควบคุมของ กสทช. ข้อดีคืออาจมีการส่งเสริม Startup และ OTT และ SME ให้เกิดเพิ่มขึ้นและการมีผู้ให้บริการที่แข็งแรงจะเป็นตัวดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้มาร่วมมากขึ้น

“การส่งเสริม Startup หรือ OTT และ SME จะเกิดขึ้นมากหากมีการควบรวมจริงหรือไม่ มีข้อพิจารณาว่า ในขณะที่ก่อนควบรวม Oper แต่ละรายมีการสนับสนุน StartUp อยู่แล้วมากน้อยแค่ไหน จะเห็นว่า ทาง AIS ได้สนับสนุนเรื่องนี้มายาวนาน พร้อม ๆ กับ dtac ที่มีโครงการ Accerlerate ก่อนที่ทางทรูจะได้ริเริ่ม True Incube ดังนั้นข้ออ้างว่า หลังควบไปแล้ว จะทำให้ OTT ไปไกลและเกิดเพิ่มขึ้น ดึงดูดต่างชาติเพิ่มขึ้น มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน”

กลุ่มตัวแทนอุตสาหกรรมที่เป็น Vendor อย่าง Ericsson ให้ความเห็นว่า การพิจารณาว่าผูกขาดหรือไม่ ชวนสงสัยว่า เราเคยพิจารณากำไรของ Operator แต่ละรายนั้นทำให้รายที่ 2-3 แข่งขันไม่ได้หรือไม่ ด้วยกำไรที่มากกว่าอาจบริหารต้นทุนความถี่ได้ดีกว่าทั้งๆที่ความถี่ราคาสูงเกินจริง ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม die fast or die slow ทำให้การสร้างโครงข่ายมีปัญหาเรื่องต้นทุน การกักตุนความถี่มีหรือไม่ ได้ความถี่ไปไม่มีการลงทุน ได้มีการวางแผนรองรับเรื่องนี้อย่างไร และการแข่งขันไม่ทำให้เกิดกำไรได้มากกว่านี้เพราะมีต้นทุนและการแข่งขันอย่างรุนแรงควรมุ่งเน้นไปที่digital transformation เราเปิด 5G มา 2 ปี ยังมีผู้ใช้ไม่ถึง 5% หลังควบรวม เราจะเร่งการลงทุนยกระดับประเทศได้หรือไม่

ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้างานฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ อีริคสันไทยแลนด์ คู่ค้ารายสำคัญของทรูและดีแทค ปัจจุบันเป็น อนุกรรมการศึกษาพิจารณาดีลควบรวมที่กสทช. เพิ่งแต่งตั้งไปเมื่อไม่กี่วัน ได้ออกมาสนับสนุนควบรวมอย่างชัดเจน จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ ถ้าจะให้ความเป็นกลางด้วยการไปทำหน้าที่ให้ความเห็นร่วมกับคณะอนุกรรมการ  และก็แปลกใจกับแนวคิดที่ได้นำเสนอ เพราะกำไรจากการดำเนินธุรกิจของรายใดรายหนึ่งนั้น คิดว่าไม่สามารถมาชี้ชะตาของอีกรายได้ การประสบความสำเร็จในการบริการทำให้ต้นทุนอยู่ในจุดที่สร้างรายได้ สร้างกำไร เป็นกลยุทธของการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และมีผู้ลงทุนที่สนับสนุนเป็นอย่างดี มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่หากต้องมาถูกกล่าวอ้างเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แพ้สามารถนำไปเป็นข้ออ้างในการควบรวมได้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ส่วนการกักตุนความถี่และไม่ลงเสา ต้องพิจารณาด้วยว่าเกิดจากเหตุใด ใช่เรื่องภาวะเศรษฐกิจหรือไม่ ใช่เรื่องเทคโนโลยีของ SmartPhone  ที่ยังไม่รองรับหรือไม่ และถ้าควบรวมแล้วจะนำคลื่นเหล่านี้มาลงเสาเพิ่มจริงหรือไม่ ก็น่าคิดไม่แพ้กัน”

สมาคมอุตสาหกรรม Software Thai โดยอุปนายกฯ ให้ความเห็นว่า คุณภาพบริการจะดีขึ้น เพราะทรูมีบริการหลากหลาย เช่น 5G และดีแทคเองก็ไม่ต่อเนื่องในการออกบริการใหม่ อาจทำให้  R&D ใหญ่ขึ้น และค่าบริการปัจจุบันไม่สะท้อนต้นทุน คาดหวังว่าจะมีโปรโมชั่นที่ดีขึ้น และเงินลงทุนใน Startup ยกประเด็นทรู incube สำเร็จแต่   dtac เปลี่ยนผู้บริหารทำให้โครงการ startup อย่างdtac accelerator ต้องพับไป การมี investor คนไทยก็อาจจะเข้าใจคนไทยได้ดีกว่า และอาณาธิปไตยทาง Cyber การมี Oper Thai ร่วมกับเมืองนอกมี Global policy มีการเก็บ data บน cloud ต่างประเทศ ถ้าควบแล้ว จะมีการเก็บ cloud เป็นในประเทศจะทำให้ cyber security ปลอดภัยมากขึ้น

อุปนายกสมาคม Thai Digital Trade ให้ความเห็นว่า Startup ไทยต้องล้มเลิกไปเพราะผู้ให้บริการรายนึงไม่ไปต่อทำให้เสียโอกาสกับ Startup ต้องไปพึ่งพาต่างประเทศ เห็นว่า OTT ของไทยไม่สามารถต้านทานกระแส OTT ต่างชาติได้ เช่นเดียวกับผู้ให้บริการที่ไม่เข้มแข็ง ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องจะขาดโอกาสได้เช่นกัน บทบาทผู้ให้บริการไม่ใช่มือถือแต่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต้องมีความเข้มแข็งพอ

สมาคม E-Learning แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันไทยใช้ OTT ต่างชาติเป็นจำนวนมาก หากทำให้ธุรกิจห่วงโซ่ เติบโตและสร้างกำลังซื้อในกลุ่ม starup ott และ sme ในประเทศถือเป็นเรื่องที่ดีและน่าสนับสนุน

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาดิจิทัล ให้ความเห็นว่า เรื่องค่าบริการหลังควบรวม กสทช. สามารถควบคุมได้ และ การควบรวมอาจทำให้เกิดบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น และเมื่อควบแล้วจะเกิดบริการใหม่ ๆ ได้หรือไม่ คิดว่าจะทำได้ต่อเมื่อมีฐานลูกค้าเพียงพอ การควบรวมสามารถทำให้ธุรกิจคนไทยเติบโตถึงขนาดไปให้บริการในต่างประเทศได้

สมาคม CPAT ส่งเสริมเทคโนโลยี Cyber เห็นว่า ความยั้งยืนของ Cyber เป็น OTT ผ่าน Operator เราต้องจับมือกัน เชื่อว่าถ้าหุ้นใหญ่เป็นคนไทย จะทำให้ประโยชน์เกิดขึ้นในชาติในระยะยาว

สมาคมการค้าผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ความเห็นว่า การควบรวมน่าจะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างจาก dtac accelerate และ true incube จะมาส่งเสริมกันในอนาคต

ตัวแทนจากสภาหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า สนับสนุนการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ธุรกิจที่ลงทุนสูงมีความแตกต่าง ถ้าการแข่งขันที่มีผู้นำตลาดที่ไปไกลมาก บางทีการแข่งขันจะไม่เกิดเพราะรายรองจะไม่มี incentive อาจทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรมได้ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศระยะยาว และการควบรวมแล้วจะมีผลต่อพนักงาน โครงสร้างพื้นฐานผู้ร่วมค้าจะเป็นอย่างไร เสาที่มีอยู่จำนวนมากจะทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร

สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ปัจจัยที่จะแข่งขันกับต่างประเทศได้คือโครงสร้างทางเทคโนโลยี การควบรวมนั้นจะได้ประโยชน์คือได้เทคโนโลยีจากฝั่งยุโรปและได้ความแข็งแกร่งจากผู้ให้บริการในไทย ได้การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ทำให้ Big Player เหลือไม่กี่ราย เชื่อว่า กสทช. จะควบคุมราคาได้ ควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีความแข่งแกร่ง

เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 7 สมาคมฯ แวดวงโทรคม ไฟเขียวเลือกข้างควบรวม ไม่มีใครอยู่ฝั่งเดียวกับผู้บริโภค และยิ่งน่าแปลกใจเมื่อเห็นตัวแทนจากหลายสมาคม อย่าง สมาคมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ไทย,สมาคมการค้าผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัล, สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฯ (ที่มีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด นั่งเป็นประธานสภา), สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ (ซึ่งมีนายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ ประธานคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ นั่งเป็นประธานสมาคม) มองแง่บวก ว่าควบแล้วจะเป็นผลดีกับ ECOSYSTEM ลากไปจนถึงธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ก่อนนี้ ทรูเคยเปรยว่าจะจัดตั้งกองทุน 100-200 ล้าน USD ช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แข่งกับต่างประเทศได้ ได้ยินแบบนี้ก็เลิกคุยในฐานะผู้บริโภคตาดำๆ เพราะไม่มีใครที่จะยกผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติมาเป็นหลัก เต็มไปด้วยความห่วงใยต่อประโยชน์ของกลุ่มทุนกันทั้งนั้น 

ตัวแทนกลุ่มการลงทุนวิจัยตลาดทุน บริษัท rkf group สนับสนุนการควบรวม เพราะถ้าไม่ควบรวมจะเกิดการผูกขาด ให้ความเห็นว่า AWN เป็นผู้นำตลาดอันดับ 1ในหลายมิติ ในแง่กำไรสะท้อนผู้ที่ผูกขาดตลาดมักจะมีกำไรสูง อย่าง AWN มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดและกำไรสูงสุด แต่บริษัททรู ลำดับ 2 ลงทุนต่อเนื่องแต่ผลประกอบการขาดทุนตลอด และดีแทคลงทุนต่อเนื่องแต่ไม่สอดคล้องกับบริษัทที่ 1 และ 2 ถ้าไม่ให้ควบ อาจอนุมานได้ว่าทรูจะดำเนินธุรกิจต่อไปไม่ได้ กลับกันทำให้ AWN ผูกขาดยิ่งขึ้นไปอีก ค้นพบการเปลี่ยนผ่าน 5G มีการลงทุนเสาสูงมากและลงทุนทับซ้อนกัน การที่กสทช.ควบคุมได้และทำให้ต้นทุนลดลงได้จะดีต่อผู้บริโภค

ตัวแทนกลุ่มอื่นๆ บริษัทเมืองชลเซ็นเตอร์ เห็นว่า Operator จะมีเงินลงทุนเยอะๆ ส่งผลดีต่อตัวแทนจำหน่ายและผู้บริโภค

ร้านโมบายคอฟฟี่ ผู้ประกอบการรายย่อย เห็นด้วยกับการควบรวม เพราะจะทำให้ประโยชน์เกิดกับผู้บริโภค

จะเห็นว่าความคิดเห็นเหล่านี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด โดยพยายามโยงเหตุผล ไม่ว่าจะเป็น OTT StartUp โยงไปถึงความปลอดภัยทาง Cyber ทั้งหมดนี้ส่วนตัวเห็นว่า เป็นเพียงข้ออ้างให้เกิดความชอบธรรมสนับสนุนให้เกิดการควบรวมกิจการที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์กับกลุ่มทุนใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่ผู้บริโภค ซึ่งถ้าพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีหัวใจอยู่ที่การบริหารจัดการคลื่นความถี่ที่มีอยู่ ไปกระจายสัญญาณให้เกิดการใช้งานอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง การพัฒนาบริการที่ตอบโจทก์ทำออกมาแล้วประชาชนให้การตอบรับและพากันใช้บริการนั้นเป็นพื้นฐานของการโทรคมนาคมที่แท้จริง ก่อนที่จะนำไปต่อยอดแสวงหารายได้เพื่อเกื้อกูล ecosystem ให้ดำเนินต่อไปได้ การที่ไม่สามารถแข่งขันด้วย”หัวใจสำคัญของกิจการ” แล้วพยายามเชื่อมโยงปลายเหตุมาสนับสนุนให้เกิดการควบรวมอาจรับฟังเป็นความรู้ แต่ไม่สามารถรับฟังแล้วใช้เป็นใบเบิกทางหรือใบอนุญาตจากสังคมที่จะเห็นดีเห็นงามคล้อยตามไปได้

ทั้งหมดนี้ต้องคอยจับตาดูให้ดีว่า การรับฟังความคิดเห็นในรอบถัดไป ที่ยังมีอยู่อีก 2 รอบ จะออกมาแนวไหน และเป็นการพิสูจน์บทบาทของผู้ควบคุมกติกาอย่าง กสทช. ที่จะรวบรวมข้อมูลไปพิจารณาและตัดสินใจให้ชนะใจประชาชนทั้งประเทศหรือชนะใจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะนายทุนได้มากน้อยขนาดไหน…

Comments

comments