สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จับมือ AIS ขยายผลโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” และโครงการ “คนไทยไร้ e-waste”   สร้างทักษะความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และเสริมภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ให้บุคลากรในสังกัดเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและเครือข่ายประชาธิปไตยทั่วประเทศกว่า 100,000 คน ด้วยหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์  เพื่อยกระดับการทำงานในยุค Digital Transformation ปรับตัวองค์กรสู่การเป็น Smart Parliament   พร้อมให้ความสำคัญต่อกระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ด้วยการใช้แอป E-Waste+ ผ่าน Agent ของสำนักงานฯ ในการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยายจุดรับทิ้งขยะ E-Waste ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  เพื่อนำขยะเข้าสู่กระบวนการจัดการรีไซเคิล Zero e-waste to Landfill ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า “วิสัยทัศน์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คือ มุ่งพัฒนาองค์กรไปสู่ Smart Parliament โดยสร้างระบบนิเวศการทำงานให้เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงบนโลกดิจิทัล ซึ่งความร่วมมือกับเอไอเอส รวมถึงกรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะมาช่วยส่งเสริมนโยบายในการขับเคลื่อนการทำงานบนโลกดิจิทัลของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ขยายผลการเรียนรู้ให้แก่บุคลากรสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงประชาชนและยุวชนประชาธิปไตยทั่วประเทศ รวมกว่า 100,000 คน  ผ่านช่องทาง Online Learning Platform ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  เพื่อสร้างทักษะความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่บุคลากร ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับองค์กรด้วย

รวมทั้งได้ร่วมมือกับเอไอเอส ในโครงการคนไทยไร้ e-waste สร้างการตระหนักรู้การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี โดยเชิญชวนให้บุคลากรในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนทั่วไป นำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งที่จุดทิ้งขยะผ่านแอป E-Waste+ ที่มีการขยายจุดรับทิ้งขยะ รวม 23 สำนัก 4 กลุ่มงาน  โดยแต่ละสำนักจะมี Agent เป็นผู้บันทึกผลการเก็บขยะรวมถึงให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี”

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องที่เป็นประเด็นหลักในสังคมถึง 2 เรื่อง ทั้งการเสริมทักษะดิจิทัล สร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้แก่บุคลากร รวมถึงการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ผ่านมา AIS ได้เดินหน้าได้ส่งต่อหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปยังบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผ่านความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาภาคเอกชน กรุงเทพมหานคร หรือแม้แต่การส่งต่อไปยังภาคประชาชนผ่านหน่วยงานความมั่นคงอย่าง สกมช.  ทำให้ทุกวันนี้มีผู้เข้าถึงหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์แล้วกว่า 300,000 คนทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้เดินหน้าภารกิจคนไทยไร้ e-waste เดินหน้าสู่เป้าหมายการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรือ HUB of e-waste ที่มีองค์กรภาครัฐและเอกชนกว่า 190 องค์กร มาร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการสร้างองค์ความรู้ ด้านเครือข่าย ที่มาช่วยแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ ด้านจุดรับทิ้ง ด้านการขนส่ง และด้านการรีไซเคิลแบบ Zero e-waste to landfill ตามมาตรฐานสากล โดยได้นำเทคโนโลยี Blockchain กับแอปพลิเคชัน E-Waste+ มาใช้ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสามารถตรวจสอบสถานะการทิ้งขยะ E-Wasteได้ทั้งกระบวนการ รวมถึงยังคำนวณขยะที่ได้ออกมาเป็น Carbon Scores ที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการร่วมทิ้ง E-Waste

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยสร้างการตระหนักรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่บุคลากรในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงเครือข่ายประชาธิปไตยทั่วประเทศ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

Comments

comments