กรุงเทพฯ 5 มีนาคม  2564 –  กฟผ. – ทรู ร่วมทดสอบเทคโนโลยี 5G ที่ กฟผ. แม่เมาะ ครั้งแรกในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าของไทย โดยนำเทคโนโลยีสุดล้ำ เชื่อมต่อและควบคุมการทำงานผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ True 5G เพื่อรองรับอุปกรณ์และเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ด้วยคุณสมบัติพิเศษของเครือข่าย 5G ที่มีความหน่วงต่ำ สามารถตอบสนองได้แบบเรียลไทม์ มีความแม่นยำให้ความเร็วสูงในการรับส่งข้อมูล และเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ได้จำนวนมหาศาล หวังเสริมประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า เพิ่มความปลอดภัย และใส่ใจดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

นายปิยพงศ์ วรกี  (คนนั่งซ้าย) ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการและพัฒนาระบบสารสนเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วย นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ (คนนั่งขวา) หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมลงนาม MOU โครงการวิจัยและพัฒนาระบบสื่อสารและบริการ 5G สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า ระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ กลุ่มทรู โดยจะร่วมศึกษาและพัฒนาการนำโครงข่ายและอุปกรณ์ที่รองรับระบบ 5G มาทดสอบใช้งานที่ กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าในยุคดิจิทัล โดยมีนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร (คนยืนซ้าย) ผู้ว่าการ กฟผ. และนายพิชิต ธันโยดม (คนยืนขวา) หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านธุรกิจองค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

 

นายปิยพงศ์ วรกี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการและพัฒนาระบบสารสนเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. มุ่งปรับองค์กรให้พร้อมรับกับสถานการณ์พลังงานที่เปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของประชาชน ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานจาก Hard Work เป็น Smart Work ให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และคล่องตัวเพิ่มขึ้น โดยนำร่องพัฒนาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. สู่การเป็นโรงไฟฟ้าดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูง แม่นยำ ควบคุมและสั่งการผ่านระบบดิจิทัล โดยใช้ระบบ AI วิเคราะห์และประมวลผลการทำงาน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการควบคุมโรงไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้โรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและมีความพร้อมจ่ายสูง ส่วนด้านระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. ได้นำระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) มาเสริมความแข็งแกร่งของโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงพัฒนาระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast) ซึ่งจะช่วยให้สามารถคาดการณ์เพื่อวางแผนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างแม่นยำ และมีการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการทำเหมือง ที่เรียกว่า Smart Mining เพื่อให้การทำเหมองมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน

สำหรับความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และ ทรู ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าของไทยที่ร่วมทดสอบเทคโนโลยี 5G ซึ่ง ทรู เป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายสำหรับการร่วมพัฒนาภายใต้กรอบระยะเวลาความร่วมมือ 1 ปี โดยนำเทคโนโลยีมาทดสอบใช้งานที่ กฟผ. เหมืองแม่เมาะ ซึ่งระหว่างการทดสอบนี้ กฟผ. จะเก็บข้อมูลด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อไป โดยถือว่าความร่วมมือดังกล่าวจะยังไม่มีข้อผูกพันทางการค้า หรือการจัดหาอุปกรณ์และเทคโนโลยีสำหรับนำมาใช้งานของ กฟผ. ในอนาคต ซึ่ง กฟผ. มีความยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือทดสอบเทคโนโลยี 5G กับเครือข่ายอื่น ๆ ด้วย

นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรูมีความยินดี  เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมมือกับ กฟผ. ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 และนับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของกลุ่มทรูในการนำ 5G มาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่แตกต่างและใช้งานได้จริงในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม ตอกย้ำความเป็นผู้นำโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล และ True 5G เครือข่ายอัจฉริยะรายแรกรายเดียว ครบกว่า เร็วแรงยิ่งกว่า ครอบคลุมกว่า ทุกการใช้งาน

โดยความร่วมมือกับ กฟผ. ในครั้งนี้ ทรูได้ติดตั้งเครือข่าย True 5G เทคโนโลยี 5G Standalone (SA) เพื่อทดสอบที่ กฟผ. เหมืองแม่เมาะ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ 5G Fixed Wireless Access (FWA) เพิ่มความครอบคลุมทั่วพื้นที่เหมืองแม่เมาะ โดยเฉพาะในบริเวณที่ไม่สามารถลากสายสัญญาณได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับ-ส่งข้อมูลแบบไร้สาย พร้อมนำศักยภาพของเทคโนโลยีโครงข่ายที่ให้ความเร็วสูงในการใช้งาน รองรับเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ได้จำนวนมาก ทั้งยังมีความเสถียรและมีความหน่วงต่ำ มาต่อยอดพัฒนาเป็นโซลูชั่นต่าง ๆ เพื่อการใช้งานในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในการพัฒนาระบบตรวจสอบลานกองถ่าน (Stockpile) ด้วยโดรนที่สามารถถ่ายภาพความละเอียดสูงและตรวจจับความร้อนในลานกองถ่าน โดยมีการประมวลผลแบบเรียลไทม์ รวมถึง แว่น AR ทำงานร่วมกับกล้องวิดีโอ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านงานซ่อมบำรุง ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กลุ่มทรูได้พัฒนา 5G โซลูชันที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร สาธารณสุข และการขนส่ง สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของกลุ่มทรูที่สามารถส่งมอบบริการ 5G ที่สร้างประโยชน์ในหลากหลายมิติ ทั้งในภาคธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล และยกระดับการใช้ชีวิตของคนไทยและสังคมไทยที่กำลังปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ในทุกรูปแบบ

สำหรับนวัตกรรม 5G ที่ทรู ร่วมมือกับ กฟผ. นำมาพัฒนาและทดสอบการใช้งานครั้งนี้ ประกอบด้วย

• True 5G InspecTech Drone

 

โดรนตรวจสอบลานถ่านหินใช้งานได้ทั้งแบบบังคับเอง หรือตั้งรูปแบบการบินล่วงหน้า สามารถถ่ายภาพด้วยกล้องความละเอียดสูงตรวจจับความร้อน (thermal camera) ควบคุมและส่งภาพวิดีโอผ่านเครือข่าย True 5G แบบเรียลไทม์ โดยภาพมีการเก็บและประมวลผลผ่าน Cloud AI เพื่อนำไปวิเคราะห์บริเวณต่างๆของลานถ่านหินที่มีความร้อนสูง เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ที่อาจลุกลามไปยังพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงสามารถประเมินปริมาณถ่านหินในลาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเข้าถึงได้ในบริเวณที่เข้าถึงได้ยากหรือมีความเสี่ยงอันตรายสูง

• 5G Fixed Wireless Access (FWA)

เพิ่มประสิทธิภาพในการรับ-ส่งข้อมูลแบบไร้สายครอบคลุมภายในพื้นที่เหมืองแม่เมาะ มีความเร็วสูง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและบำรุงรักษาสายสัญญาณ รวมถึงสามารถนำไปใช้งานในพื้นที่ที่ไม่สามารถลากสายได้ เช่น บนรถขนส่งถ่านหินหรือสำนักงานในพื้นที่เหมือง

• AR Professional Consult Powered by True 5G

 

นำแว่นเทคโนโลยี AR ทำงานร่วมกับกล้องวิดีโอ ส่งภาพความละเอียดสูงแบบเรียลไทม์ ผ่านเครือข่าย 5G ใช้ในงานซ่อมบำรุงต่างๆ ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยช่างสามารถซ่อมเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆไปพร้อมๆกับขอคำปรึกษาทางไกลจากช่างผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสามารถเห็นภาพเสมือนอยู่ในพื้นที่จริง สามารถให้คำปรึกษา ส่งภาพถ่าย วิดีโอ รวมถึงคู่มือการทำงาน เพื่อแนะนำวิธีและขั้นตอนการซ่อมบำรุง และหากต้องมีการเปลี่ยนอะไหล่ ก็สามารถจัดเตรียมอุปกรณ์ได้อย่างถูกต้อง ช่วยลดระยะเวลางานซ่อมบำรุงทำให้เครื่องจักรกลับเข้าสู่ระบบการทำงานตามปกติเร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ ลดข้อผิดพลาด ทั้งยังช่วยประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางด้วย

• Internet of Things (IoT)

สนับสนุนการทำงานภายในเหมือง เช่น  อุปกรณ์ตรวจสอบตำแหน่งของยานพาหนะ และอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศและน้ำ เป็นต้น

Comments

comments