สุขภาพอนามัยที่ดี เป็นสิ่งสำคัญที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาในทุกๆด้าน วันนี้เราปฎิเสฐไม่ได้ว่าการเจริญเติบโตทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ตอบรับความต้องการปัจจัยที่ 5 อย่าง Smart Phone หรือ อุปกรณ์สื่อสาร จำเป็นต้องมีการวางรากฐาน ขยายความครอบคลุมของเครือข่ายให้ออกไปได้มากที่สุดนั้น มีประเด็นเรื่องความปลอดภัยที่อาจมีผลโดยตรงกับสุขอนามัยของมนุษย์ จนมีหน่วยงานที่เป็นสากลอย่าง IEEE และ ICNIRP ออกมากำหนดค่ามาตราฐานกลางในการให้บริการหรือปล่อยคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อประชาชน โดยทาง กสทช. ก็ได้นำเอาค่ามาตราฐานกลางนี้มายึดเป็นเกณฑ์มาตราฐานของประเทศไทย เพื่อใช้บังคับ สอดส่อง ดูแล กำกับให้เหล่าผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องนำไปยึดถือปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด

 

สัญญาณมือถือ ทำให้เกิดมะเร็งได้มากน้อยแค่ไหน?

แน่นอนว่าสถานีฐานที่ปล่อยคลื่นโทรศัพท์มือถือออกมานั้นมีการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อให้บริการ โดยข้อมูลจำนวนสถานีฐานของค่ายมือถือที่อยู่ในกำกับดูแลของกสทช. ปลายปี 2562 มีอยู่ 170,577 สถานี* ซึ่งต้องนับว่าเป็นจำนวนที่มากและเพิ่มขึ้นในทุก ๆ วันเพื่อให้รองรับต่อปริมาณความต้องการใช้งาน ในเรื่องนี้หน่วยงานขององค์การอนามัยโลกที่เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง หรือ International Agency for Research on Cancer : IARC ได้จัดให้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่ในตัวกระทำที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง กลุ่ม 2B เป็นกลุ่มเดียวกับพวก ผักดอง น้ำมันเบนซิน และไอระเหยของน้ำมันเบนซินที่มีผลอาจเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดโรงมะเร็ง จึงทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือนั้น อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้หรือไม่ โดยมีการศึกษาและวิจัยกันมาก ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้โทรศัพท์มือถือ แต่ยังไม่พบหลักฐานที่เพียงพอจะสรุปได้ว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือ มีผลร้ายหรืออันตรายต่อสุขภาพ จนกระทั่งในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 องค์การอนามัยโลก ได้ออกมายืนยันว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือปลอดภัยต่อประชาชน

 

 

คนกลางที่จะมาบอกว่าคลื่นที่ใช้งานนั้นปลอดภัย จะเป็นใครไม่ได้ นอกจาก “คุณหมอ”

 

กสทช.เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ แต่ในทางปฎิบัติแล้ว ในไทยเรามีหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ คนที่สามารถชี้ชัดว่าการปล่อยคลื่นนั้นได้อยู่ในเกณฑ์และมีความปลอดภัยแก่ประชาชน จะเป็นใครไม่ได้นอกจาก “คุณหมอ” โดยการนี้ กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายหรือถูกร้องขอให้รับภารกิจในการประเมินความเสี่ยงจากภัยสุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านรังสีและเครื่องมือแพทย์ของประเทศ มีภารกิจในเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงจากภัยสุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทันที่พบความผิดปกติหรือเป็นอันตราย สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ก็จะได้รายงานให้ทาง กสทช. ทราบได้ทันที

 

 

เปิดผลสำรวจล่าสุด ค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย

ปี 2562-2563 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์  ได้สำรวจค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือ เพื่อวัดค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าและตรวจสอบว่าเกินกว่าค่าที่มาตรฐานสากลกำหนดหรือไม่ (International Commission on Non-ionizing Radiation Protection : ICNIRP) โดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ที่ 950 MHz มีค่าไม่เกิน 4.5 W/m2 ความถี่ 1800 MHz มีค่าไม่เกิน 9 W/m2 และความถี่ 2100 MHz มีค่าไม่เกิน 10 W/m2 เพื่อเป็นการประเมินความเสี่ยงและ คุ้มครองผู้บริโภค ผลสำรวจวัดค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือในเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต อำเภอเมืองในเขตปริมณฑล 5 จังหวัด และอำเภอเมืองในจังหวัดภาคกลาง 16 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 2,217 สถานี โดยตรวจวัดในช่วงความถี่ 950-2100 MHz พบว่า ค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่วัดได้มีอยู่ในช่วงระหว่าง 0.000255 – 0.01776 (W/m2) ซึ่งค่าที่วัดได้นี้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย โดยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานประมาณ 500-1,000 เท่า จึงมีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงกับสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือ

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ประกอบกับข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ พิสูจน์โดยคุณหมอจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็เป็นที่แน่ชัดและสบายใจได้ว่า คลื่นโทรศัพท์มือถือที่เราใช้งาน แม้ว่าความเจริญเติบโตของเทคโนโลยีไร้สาย จะจำเป็นต้องทำให้มีการเพิ่มจำนวนสถานีฐานสำหรับปล่อยคลื่นมาให้บริการมากขึ้นเท่าใด เราก็อุ่นใจ สบายใจว่าคลื่นที่ปล่อยออกมานั้นได้มีการตรวจวัดจากหน่วยงานทางการแพทย์ระดับประเทศ จนเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ค่าที่ตรวจได้นั้น ต่ำกว่าเกณฑ์มาตราฐาน ห่างไกลจากจุดที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ประกอบกับหน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีการเฝ้าระวังตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอ เป็นอีกบทพิสูจน์ว่า สถานีฐานของผู้ให้บริการต่างๆในประเทศเรานั้น อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ได้มาตราฐานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

*ที่มา https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1092

 

 

 

Comments

comments