สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังคงมีความน่าเป็นห่วง ด้วยยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคสาธารณสุขไทยมีข้อจำกัดมากมายในการรับมือในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการผู้ป่วยกับจำนวนเตียงที่หลายโรงพยาบาลจัดหาไว้ไม่สามารถรองรับได้ ล่าสุด AIS จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงบประมาณสร้าง “หอผู้ป่วยกึ่งวิกฤต” (Field Cohort Ward) ให้กับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รองรับผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่ยังรอเตียงเพื่อเข้ารับการรักษา

 

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS อธิบายว่า “เรายังคงเดินหน้าภารกิจสู้ภัย COVID-19 ภายใต้แนวคิด เชื่อมต่อ ช่วยเหลือ เพื่อคนไทย อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทำให้ภาคสาธารณสุขรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ต้องรับมืออย่างหนักในการรับผู้ป่วยเข้ารักษา ซึ่งจะเห็นได้ว่าปริมาณผู้ป่วยมีมากกว่าจำนวนเตียงที่แต่ละโรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับภาคสาธารณสุขและผู้ป่วย เราจึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงบประมาณเป็นเงิน 6.5 ล้านบาท ในการสร้าง หอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตแบบเร่งด่วนให้กับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อขยายพื้นที่รองรับการรักษา ช่วยลดเวลาการรอเตียง และความแออัดในห้องฉุกเฉิน เสริมศักยภาพการดำเนินงานของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในการรับมือสู้กับ COVID-19 ได้เต็มกำลังความสามารถ”

 

สำหรับโครงการก่อสร้างหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤต (Field Cohort Ward) ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ใช้บริเวณลานจอดรถหน้าอาคารแพทยพัฒน์ จัดสร้างอาคารโครงสร้างชั่วคราวเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ที่มีอาการขั้นกลางไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้จนถึงผู้ป่วยขั้นวิกฤต ซึ่งที่ผ่านมา AIS ได้สนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมถึง โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ และภาคสาธารณสุขไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการสนับสนุนเครือข่ายสัญญาณ เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร รวมถึงบริการดิจิทัลที่ช่วยให้การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

นายสมชัย กล่าวในตอนท้ายว่า “ผลกระทบของ COVID-19 ส่งผลต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจต่างๆ และส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้บริโภคทุกกลุ่ม AIS ยังคงยืนยันที่จะเชื่อมต่อ ช่วยเหลือ เพื่อคนไทยในทุกมิติ ทั้งศักยภาพขององค์กร บุคลากร ที่มีความพร้อมในการสนับสนุนการรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ายกระดับการทำงานของภาคสาธารณสุขไทย เราเชื่อว่าการสอดประสานการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนจะทำให้ประเทศก้าวข้ามผ่านความท้าทายในวิกฤตครั้งนี้ไปได้”

Comments

comments