ปัจจุบัน มะเร็งยังคงเป็นปัญหาหลักของประเทศไทยที่เพิ่มภาระทางสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ โดยมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าโรคหัวใจ โรคเมตาบอลิซึม และเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนและความก้าวหน้าของประเทศ จากความตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับมาตรฐานการดูแลรักษาและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยมะเร็ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ จึงเกิดการจัดงานประชุมใน “โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Health Technology Assessment (HTA)” ภายใต้หัวข้อ การประเมินเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพในมุมมองใหม่ : บทบาทของการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในการรองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายในการขยายโอกาสการเข้าถึงนวัตกรรมและยารักษามะเร็งในประเทศไทย โดยศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้จัดประชุมกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา รวมถึงคณะผู้กำหนดนโยบายนักวิชาการ และแพทย์ ภายในประเทศ ภูมิภาค และต่างประเทศเพื่อเจาะลึกถึงประเด็นต่าง ๆ ในสาขามะเร็งวิทยา อาทิการนำเสนอแนวทางการประเมินเทคโนโลยีสุขภาพที่สามารถรองรับนวัตกรรมการรักษาใหม่ ๆได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงกลไกต่างๆจากต่างประสบการณ์ในต่างประเทศที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมะเร็งมีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว
ศ. นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ศ. นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “อย่างที่ทราบกันดีว่ามะเร็งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดการกับมะเร็งอย่างครอบคลุม รวมถึงการป้องกัน การตรวจคัดกรองที่ไว และการรักษาอย่างทันท่วงที โดยการขยายโอกาสการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยถือเป็นมิติสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีผลการรักษาที่ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งหายขาดได้ในที่สุด ทั้งนี้มะเร็งยังคงส่งผลกระทบต่อด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบที่หนักจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน การลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมะเร็งสามารถช่วยเพิ่มผลิตภาพของภาคแรงงานในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุดคือความยั่งยืนในการจัดสรรงบประมาณสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย ในโอกาสนี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ดำเนินโครงการตามพระราชดำริของ ศาสตราจารย์ ดร. เจ้าหญิงจุฬาภรณ์ กรมพระศรีสวรรค์วัฒนา และความมุ่งมั่นของพระองค์ที่จะดูแลผู้ป่วยทุกระดับในทุกพื้นที่ของประเทศไทยเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยมาตรฐานระดับโลกที่ดีที่สุด และเท่าเทียมกัน ดังนั้นการประชุมครั้งนี้จึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อประเทศไทย”