บริษัท บ้านปู (จำกัด) มหาชน อัปเดตความคืบหน้าของการประกวดอกแบบบอร์ดเกมในโครงการ “Energy On Board by BANPU B-Sports Thailandกับหัวข้อDriving Thailand’s E-mobility : เดิน(บอร์ด)เกมขับเคลื่อนอนาคตยานยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย” ภายใต้ความร่วมมือกับบอร์ดเกมไนท์ หรือ BGN รายการแคสต์บอร์ดเกมที่มีผู้ชมสูงที่สุดในประเทศไทย โดยหลังจากทีมที่ผ่านเข้ามาถึงรอบสุดท้ายทั้งหมด 9 ทีม ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนนิสิตนักศึกษา 27 คน จาก 11มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปเพื่อติดอาวุธความรู้เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาและออกแบบบอร์ดเกม โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มและให้บริการคาร์แชร์ริ่งแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมด้วยทีมงานจากหน่วยงานธุรกิจยานพาหนะไฟฟ้าของบ้านปู และผู้เชี่ยวชาญในวงการบอร์ดเกม เพื่อให้ทุกทีมได้เก็บเกี่ยวความรู้และแรงบันดาลใจไปพัฒนาผลงานบอร์ดเกมของแต่ละทีมกันอย่างเต็มที่   

ล่าสุดน้องๆ ทั้ง 9 ทีมได้นำผลงานบอร์ดเกมต้นแบบ (Prototype) มาร่วมกิจกรรม First Impression Review เพื่อให้ทีมบ้านปูและผู้เชี่ยวชาญทางด้านบอร์ดเกมได้ทดลองเล่นผ่านเว็บไซต์ Tabletopia ซึ่งแต่ละทีมสามารถตีโจทย์การออกแบบบอร์ดเกมในประเด็นการขับเคลื่อนอนาคตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้อย่างหลากหลาย อาทิ ในมุมมองของการเป็นผู้ผลิตและการเป็นผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การทำธุรกิจและบริการเกี่ยวกับการคมนาคมและการขนส่ง เป้าหมาย นโยบาย และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และกลไกอุปสงค์อุปทาน ซึ่งพี่ๆ ก็ได้ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะกลับไป ทั้งในเรื่องของกลไกและวิธีการเล่นเกม การเล่าเรื่องราวของเกมให้น่าสนใจ รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อให้ทุกทีมได้นำไปปรับปรุงและพัฒนาบอร์ดเกมของตนเองให้มีความน่าสนใจและใช้ข้อมูลที่สะท้อนข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น ก่อนกลับมาพบกันอีกครั้งในกิจกรรม Playtest เพื่อให้คณะกรรมการได้ทดลองเล่นเกมที่ได้พัฒนาเพิ่มเติมกันอีกครั้ง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าหลายทีมได้นำคำแนะนำที่ได้รับไปพัฒนาบอร์ดเกมจนสามารถสื่อสารเรื่องการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสู่ผู้เล่นได้อย่างครบมิติมากขึ้น 

ไม่ว่าจะเป็นผลงานของน้องๆ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทีม TU Next กับเกมEV City” ซึ่งภารกิจหลักของเกมคือการผลักดันให้ยานยนต์ในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 30 เป็นยานยนต์ไฟฟ้า โดยผู้เล่นจะผลัดกันรับบทเป็นทั้งรัฐบาลและบริษัทเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ในแต่ละตาผู้เล่นจะต้องตอบสนองอุปสงค์ของผู้บริโภคที่มาพร้อมกับเงื่อนไขที่มีความแตกต่างกันออกไปของกลุ่มลูกค้า โดยผู้เล่นจะได้เรียนรู้เรื่องชนิดของยานยนต์ไฟฟ้า การผลิต การบริหารจัดการทรัพยากร รวมถึงความรู้เรื่องภาษีและนโยบายจากภาครัฐไปพร้อมๆ กัน 

เกม Delivery Road จากทีม Derm Derm Party ผลงานของน้องๆ ที่รวมตัวกันจาก 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยเป็นเกมที่สร้างขึ้นในมุมมองของบริษัทขนส่งสินค้าที่เชื่อมโยงกับนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและการคมนาคมของภาครัฐโดยผู้เล่นจะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของนโยบายและราคาเชื้อเพลิงที่ผันผวนตามความต้องของผู้บริโภค เกมนี้จึงสะท้อนถึงความเชื่อมโยงของทุกภาคส่วนในการผลักดันให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
ในประเทศ 

หรือเกม The Driver จากทีม Baby Driver ผลงานของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นเจ้าของบริษัทที่ให้บริการรับส่งสินค้าและผู้โดยสาร โดยในเกมได้สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับนโนบาย 30/30 ซึ่งกำหนดว่าภายในปี .. 2030 ยานยนต์ที่ผลิตภายในประเทศร้อยละ 30 จะต้องเป็นยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) นอกจากนี้ เกมยังได้แบ่งการเล่นออกเป็น 3 เฟสตามแบบฉบับของนโยบาย 30/30 และได้จำลองเหตุการณ์ต่างๆ มาเป็นตัวกำหนดสถานการณ์ในเกมให้มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น โดยผู้เล่นจะต้องบริหารการจัดส่งสินค้าและผู้โดยสาร ไปพร้อมกับการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 

นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสาย  สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าของการประกวดออกแบบบอร์ดเกมในปีนี้ว่า “หลังจากกิจกรรมเวิร์คช็อปและการได้ดูการนำเสนอบอร์ดเกมของน้องๆ 9 ทีมสุดท้ายแล้ว เห็นได้ชัดว่าทุกทีมสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านบอร์ดเกมไปต่อยอดรวมทั้งได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ จนสามารถออกแบบบอร์ดเกมที่ทั้งสนุกและเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เรียนรู้เรื่องราวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ในหลากหลายมิติ ซึ่งบ้านปูในฐานะผู้จัดโครงการนี้ เรามีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ รวมไปถึงการให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการรับรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในอนาคต พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถและดึงศักยภาพที่มีในตัวออกมาใช้อย่างเต็มที่ในการผลิตสื่อที่ใช้ในการสื่อสารในประเด็นดังกล่าวอย่างสร้างสรรค์ จากนี้ต้องรอติดตามกันต่อไปในโค้งสุดท้ายของโครงการกับกิจกรรม Final Day ว่าทีมไหนจะก้าวไปเป็นผู้ชนะของการประกวดปีนี้” 

 

นักศึกษาทีมไหนจากมหาวิทยาลัยใดจะได้แชมป์การประกวดออกแบบบอร์ดเกม Energy on Board by BANPU B-Sports Thailand ในปีนี้ไปครอบครอง ต้องรอติดตามชมกันต่อไป ระหว่างนี้ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและติดตามข่าวสารจากโครงการได้ที่เฟซบุ๊ก BANPU B-Sports Thailand: https://www.facebook.com/BanpuBSportsThailand 

Comments

comments