HERE Technologies คว้าอันดับหนึ่งผู้ให้บริการโลเคชั่นแพลตฟอร์มระดับโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากรายงาน Location Platform Index ฉบับล่าสุด จัดทำโดย Ovum ตอกย้ำความเป็นผู้นำในด้านการพัฒนา HERE Open Location Platform (OLP) อย่างต่อเนื่อง พร้อมความมุ่งมั่นด้วยการเปิดแพลตฟอร์มให้นักพัฒนาเข้ามาร่วมพัฒนา ลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และโครงสร้างการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวที่แข็งแกร่ง

Ovum ประเมินและจัดอันดับผู้ให้บริการโลเคชั่นแพลตฟอร์มรายสำคัญๆ 13 ราย โดยพิจารณาจากระบบแผนที่และเทคโนโลยีที่มีให้บริการ ขนาดขอบเขตการเข้าถึอีโคซิสเต็มส์ของนักพัฒนาและ OEM รวมทั้งความสามารถและประสิทธิภาพของแพลตฟอร์มที่เปิดให้บริการในท้องตลาด

ในรายงานฉบับดังกล่าว Ovum อ้างอิงถึงประสิทธิภาพของ HERE XYZ เครื่องมือการจัดการข้อมูลโลเคชั่นที่เปิดตัวในปีนี้ รวมไปถึงการเปิดตัว HERE Navigation on Demand โซลูชั่นระบบนำทางในรถยนต์ในรูปแบบของบริการซอฟต์แวร์ (SaaS) ที่บูรณาการเข้ากับ Amazon Alexa  นอกจากนี้ยังมี HERE Cellular Signals ที่ให้ข้อมูลที่ทันสมัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่บนท้องถนนใน 196 ประเทศ และรุกเข้าสู่ตลาดเทคโนโลยีโฆษณา (AdTech) ด้วยการเปิดตัวบริการ HERE Advertising Data Services เมื่อไม่นานมานี้

การสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ทำให้ HERE แตกต่างจากคู่แข่ง  นอกเหนือจากการลงทุน 25ล้านยูโรในสถาบันวิจัย AI ในออสเตรียแล้ว HERE ยังขยายความสามารถในการปรับใช้ระบบ AI ทั่วทุกส่วนงานภายในบริษัท ทั้งยังลงทุนในเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับการปรับปรุงความเป็นส่วนตัว เช่น ประเด็นที่ว่าด้วยการให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้งาน

เอ็ดซาร์ด โอเวอร์บีค ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของ HERE Technologies กล่าวว่า เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่สามารถรั้งอันดับหนึ่งผู้ให้บริการโลเคชั่นแพลตฟอร์มในรายงานฉบับนี้อีกครั้ง เพราะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้ นับเป็นเรื่องที่น่าดีใจที่ Ovum ให้การยอมรับในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของเรา รวมไปถึงโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน AI, บล็อกเชน และการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัว

เอเดน ซอลเลอร์ และชาร์ล็อตต์ พัลเฟรย์ นักวิเคราะห์ของ Ovum ระบุในรายงานดังกล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของ HERE คือการผลักดันการสร้างกรอบโครงสร้างมาตรฐานที่เปิดกว้างสำหรับการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวในส่วนที่เกี่ยวกับโลเคชั่น เพื่อเปิดโอกาสให้นักพัฒนาและองค์กรอื่นๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วม  การประสานความร่วมมือคือหัวใจสำคัญที่ HERE ดำเนินการอยู่ โดยโอเพ่นแพลตฟอร์มคือกุญแจที่จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นที่เกี่ยวกับโลเคชั่น และสร้างโลกอัตโนมัติ (Autonomous World)สำหรับทุกคน

เทรนด์เกี่ยวกับโลเคชั่นในปี 2562


ภาพรวมแนวโน้ม

 

 

 

1 จากเมืองอัจฉริยะสู่เมืองอุดมคติ

 

5 ความมุ่งหวังของสังคมโลก

3 ความร่วมมือขับเคลื่อนระบบอัตโนมัติ

2 พลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐาน

 

 

4 โมเดลเศรษฐกิจใหม่

1. จากเมืองอัจฉริยะสู่เมืองอุดมคติ

ในการสร้างเมืองอุดมคติ (Ideal City) จำเป็นที่จะต้องมีการระบุและใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านการแข่งขันและทรัพยากรของเมืองนั้นๆ โดยจะต้องจัดทำกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการระยะยาวที่ระบุรายละเอียดอย่างชัดเจน และจะต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เช่น ประชากร ลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นนั้นๆ และอุตสาหกรรมที่ทีความเฉพาะเจาะจง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City)โดยมีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการเชื่อมต่ออย่างกว้างขวาง ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและองค์กรธุรกิจเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อทำให้เมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งปรับปรุงการให้บริการ  โดยเป้าหมายหลักคือการทำให้สภาพแวดล้อมภายในเมืองสะอาดมากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย เพิ่มความคล่องตัวในการเดินทาง และท้ายที่สุดแล้วเมืองดังกล่าวจะมีความฉลาดมากขึ้นและเป็นสถานที่ที่น่าอยู่อาศัยมากกว่าเดิม

ข้อมูลจำนวนมหาศาลเกี่ยวกับเมืองถูกนำมาใช้ในการกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึก และสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ ที่รองรับการคมนาคมขนส่งแบบอัจฉริยะ  เช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ HERE ใช้ข้อมูลการจราจรเพื่อวิเคราะห์แบบแผนการเดินทาง  นอกจากนี้ ตลาดกลางข้อมูล เช่น OneTransport เปิดให้ใช้งานข้อมูลการขนส่งสำหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

ปัจจุบัน เมืองต่างๆ กำลังก้าวเข้าสู่ขั้นตอนถัดไปของกระบวนการนี้ ซึ่งเราเรียกว่าการพัฒนาเมืองในอุดมคติ  นอกเหนือจากความสามารถด้านเทคโนโลยีและการปรับปรุงประสิทธิภาพแล้ว เทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้ยังมีศักยภาพในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองได้อย่างมากอีกด้วย  ทั้งนี้ เมืองต่างๆ กำลังอยู่ในช่วงของจุดเปลี่ยนในการพัฒนา โดยประชาชนจะสามารถสร้างเมืองแห่งอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม และโต้ตอบกับเมืองได้ง่ายขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  ผู้นำด้านเมืองอัจฉริยะอย่างเช่น กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ กำลังดำเนินการพัฒนาในทิศทางดังกล่าว ด้วยการใช้เทคโนโลยีการสร้างสรรค์ร่วมกัน (Co-creation) เพื่อพัฒนาโซลูชั่นโมบิลิตี้ที่ทำงานแบบอัจฉริยะ

แบรนด์ต่างๆ สามารถสร้างค่านิยมที่ดีให้กับเมืองอุดมคติ โดยจะต้องมีการปรับปรุงในด้านต่างๆ เช่น ความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสำหรับคนรวยและคนจน ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การรักษาความเป็นส่วนตัว และการสนับสนุนการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น

การเติบโตของเมืองอัจฉริยะที่ได้รับการปรับปรุงตามแนวคิดอุดมคติจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างเปิดกว้างระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องมีการปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่องในส่วนของภาคประชาชนเพื่อให้เมืองเหล่านี้เจริญรุ่งเรืองได้อย่างแท้จริง  วิสัยทัศน์สำหรับเมืองแห่งอนาคตจำเป็นที่จะต้องได้รับการนำเอาไปปฏิบัติจริงในทันทีภายใต้แผนการดำเนินงานร่วมกันและกรอบโครงสร้างที่เหมาะสม เพื่อให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวกลายเป็นจริง  การพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยกำหนดและสร้างกรอบโครงสร้างดังกล่าวจะต้องมีลักษณะเปิดกว้างและอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

1. มุ่งเน้นลูกค้า

ลูกค้าได้รับประสบการณ์อินเทอร์แอคทีฟแบบเฉพาะบุคคลที่ไร้รอยต่อ ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล

 

 

6. ยั่งยืน

ระบบขนส่งมีราคาประหยัด มีความยั่งยืนทั้งในแง่เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

2. ความสำเร็จของชุมชน

ความมีชีวิตชีวา สวัสดิภาพ และความสำเร็จทางเศรษฐกิจของชุมชนและสถานที่ต่างๆ ได้รับการปรับปรุงด้วยระบบขนส่งที่ดี

 

อนาคตของระบบขนส่ง

ใน NSW

5. บริการที่เข้าถึงง่าย

ระบบขนส่งช่วยให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ใดก็ตาม และรองรับความสามารถหรือสภาพแวดล้อมส่วนบุคคลทุกรูปแบบ

 

3. เศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

ระบบขนส่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจมูลค่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ของ NSW และรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วทั้งรัฐ

 

4. ความปลอดภัยและประสิทธิภาพ

ลูกค้าทุกรายเดินทางอย่างปลอดภัยบนเครือข่ายที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ

2. พลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐาน

สืบเนื่องจากกระบวนการบริหารจัดการแบบอัตโนมัติและการใช้อุปกรณ์ส่วนบุคคลอย่างแพร่หลายภายในองค์กร เครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางกายภาพ รูปแบบใหม่นี้จะช่วยสร้างระบบนิเวศน์แบบครบวงจรที่ไร้รอยต่อและครอบคลุมรอบด้าน  ในบริบทนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เมืองต่างๆ และรัฐบาลจะต้องจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี รวมทั้งจัดวางรากฐานในด้านกฎระเบียนสำหรับการใช้งานยานพาหนะหุ่นยนต์ที่ก้าวล้ำบนท้องถนนและทางอากาศ

ตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 โครงสร้างพื้นฐานของเมืองได้รับการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก แต่ปัจจุบัน วิธีการและรูปแบบการคมนาคมขนส่งแบบเดิมๆ เริ่มที่จะได้รับความนิยมน้อยลง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เพื่อรองรับระบบขนส่งรูปแบบใหม่ที่มีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีมากกว่าเดิมซึ่งกำลังจะเข้ามาแทนที่ โดยจะก่อให้เกิดระบบนิเวศน์แบบครบวงจรที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างรอบด้าน สามารถพัฒนาต่อยอด สร้างใหม่ และปรับโฉมระบบขนส่งและส่วนงานต่างๆ ของเมือง

เพื่อรับมือกับแนวโน้มที่กำลังเติบโตอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไร้คนขับ และยานพาหนะทางอากาศ จำเป็นที่จะต้องมีการรื้อระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในเมือง เพื่อให้สามารถรองรับการคมนาคมขนส่งรูปแบบใหม่ เช่น การเดินทางในรูปแบบบริการ (Mobility-asa- Service MaaS) และการเดินทางแบบออนดีมานด์ โดยมีการบูรณาการรูปแบบต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้ใช้งานร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้ให้บริการคมนาคมขนส่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานปกครองของเมืองนั้นๆ

ตัวอย่างเช่น เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ร่วมมือกับ DriveNow และ Car2Go เพื่อติดตั้งเครือข่ายสถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งบูรณาการเข้ากับระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่

นอกจากนี้ ยังมีการจัดเตรียมทางหลวงเพื่อรองรับการคมนาคมขนส่งแห่งอนาคต  ตัวอย่างเช่น ทางหลวง A1 ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้รับการปรับปรุงเพื่อเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างสนามบินชาร์ลเดอโกล กับประตูชัย Porte de Paris โดยมีสถานีที่เชื่อมต่อทางหลวงดังกล่าวกับรถไฟใต้ดิน รถบัส เลนสำหรับรถยนต์อัตโนมัติและรถเช่า

เพื่อก้าวให้ทันกับระบบเศรษฐกิจแบบออนดีมานด์ที่กำลังเติบโตและความคาดหวังที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ระบบโลจิสติกส์รูปแบบใหม่ภายในเมืองได้ถูกสร้างขึ้น โดยมีศูนย์จัดส่งขนาดเล็กกระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ

ความต้องการสำหรับการเชื่อมต่อที่ปรับปรุงดีขึ้นและการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบเรียลไทม์ผลักดันให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น  ตลอดปี 2561 ผู้ให้บริการโทรคมนาคมแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อที่จะติดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน 5G โดยบริษัท T-Mobile ดำเนินการติดตั้งเครือข่าย 5G ใน 30 เมืองใหญ่  เทคโนโลยีดังกล่าวนอกจากจะรองรับการคมนาคมขนส่งแบบไร้คนขับในอนาคตแล้ว ยังก่อให้เกิดบริการเชื่อมต่ออื่นๆ อีกมากมาย รวมไปถึงการแชร์ข้อมูลแบบเรียลไทม์

ในช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านนี้ โครงสร้างพื้นฐานทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่จะต้องถูกใช้งานควบคู่กันไป แต่ในบางครั้ง ความแตกต่างของระบบขนส่งดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการแข่งขันและสร้างมลภาวะเพิ่มมากขึ้น

จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันผลกระทบที่เกิดจากการกระจายตัวของโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับสังคมที่ใช้ระบบขนส่งอัตโนมัติและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง  รัฐบาลจะต้องประสานงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อปรับใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งนับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรองรับรูปแบบการอยู่อาศัยและการเดินทางในอนาคต

3. ความร่วมมือขับเคลื่อนระบบอัตโนมัติ

ความรวดเร็วในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและความซับซ้อนของระบบขั้นสูง รวมถึงการลงทุนทางเศรษฐกิจที่จำเป็น ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อรูปแบบการแข่งขันขององค์กร กล่าวคือ ทุกวันนี้ บริษัทต่างๆ มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกัน โดยนอกจากจะมุ่งเน้นธุรกิจหลักของตนเองแล้ว ยังร่วมมือกันเพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกันภายใต้สถานการณ์ที่จำเป็น  นอกจากนั้น กระบวนการร่วมมือที่คล้ายคลึงกันนี้ยังเกิดขึ้นระหว่างภาคธุรกิจและภาครัฐ ซึ่งจะช่วยผลักดันการบริหารจัดการและการผสานรวมองค์ประกอบต่างๆ ภายในเมืองแห่งอนาคต

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย IoT ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับข้อมูล รวมไปถึงกรอบโครงสร้างด้านการสื่อสารและโซลูชั่นเครือข่ายที่ก้าวล้ำ และปัจจุบัน ระบบอัตโนมัติกำลังถูกใช้งานในหลากหลายรูปแบบภายใต้ความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมและองค์กรต่างๆ

โลกอัตโนมัติ (Autonomous World) กำลังถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยข้อมูลที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ และมีการใช้งานข้อมูลดังกล่าวร่วมกันอย่างเปิดกว้าง  แพลตฟอร์มข้อมูลใหม่ๆ และตลาดกลางข้อมูลจำเป็นต้องอาศัยมาตรฐานด้านข้อมูลที่ได้รับการยอมรับจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และประเทศต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรองรับการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ  รถยนต์ไร้คนขับที่ขับจากกรุงเวียนนาไปยังกรุงเบอร์ลินจะต้องสามารถสื่อสารกับโครงสร้างพื้นฐานของเมืองหนึ่งได้ดีเท่ากับอีกเมืองหนึ่ง  Synchronicity คือธุรกิจร่วมทุนที่มีเป้าหมายในการดำเนินการดังกล่าว ด้วยการสร้างระบบพื้นฐานด้านเทคนิคที่สอดคล้องกันสำหรับข้อมูลของเมืองอัจฉริยะ

ประโยชน์ของการประสานงานร่วมกันและความร่วมมือสำหรับระบบอัตโนมัติปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในส่วนของท่าเรืออัจฉริยะ เช่น โครงการ SmartPort ของเมืองฮัมบูร์ก ซึ่งระบบต่างๆ (ระบบจัดการเรือขนสินค้า ยานพาหนะไร้คนขับ ป้ายจราจรแบบไดนามิก ระบบจัดการจราจรแบบเรียลไทม์ และระบบนำทาง)สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น แพลตฟอร์ม AEOLIX ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) ทำหน้าที่เชื่อมต่อระบบข้อมูลโลจิสติกส์ที่มีลักษณะแตกต่างหลากหลายทั่วยุโรป ทั้งภายในและระหว่างบริษัทต่างๆ เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบเรียลไทม์และรองรับการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์

หัวใจสำคัญของระบบอัตโนมัติคือระบบเครือข่ายที่ยืดหยุ่น สามารถปรับขนาดได้อย่างเหมาะสม และมีการหน่วงเวลาน้อยที่สุด ซึ่งนับว่าจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบริการอัตโนมัติ ตั้งแต่การขับขี่ไปจนถึงการรับมือกับภาวะฉุกเฉิน  เครือข่าย 5G มีศักยภาพที่จะรองรับความต้องการดังกล่าว และปัจจุบัน ภาครัฐและภาคเอกชนกำลังร่วมมือกันเพื่อสร้างเครือข่ายดังกล่าว  สำหรับในยุโรปนั้น มีโครงการความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรปและภาคอุตสาหกรรมไอซีทีของยุโรป ภายใต้ชื่อ 5G PPP ซึ่งจะนำเสนอโซลูชั่น สถาปัตยกรรม และมาตรฐานสำหรับเครือข่าย 5G ของยุโรป

โลกอัตโนมัติในอนาคตจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่แท้จริง ซึ่งไม่ใช่ในแง่การเมืองหรือเศรษฐกิจ แต่เป็นโลกาภิวัตน์ของข้อมูล ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานด้านข้อมูล รวมถึงการสื่อสารที่เปิดกว้าง แต่ปลอดภัยและเชื่อถือได้  การเปิดกว้างเพื่อรองรับการประสานงานร่วมกัน การบูรณาการ การใช้งานร่วมกัน และการสำรวจโอกาสมากมายในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมและภาคส่วนต่างๆ ถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่สำคัญสำหรับการสร้างโลกอัตโนมัติ โดยเป้าหมายหลักคือการสร้างโลกที่เปิดกว้าง ซึ่งทุกสิ่งสามารถสื่อสารระหว่างกัน โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องพรมแดนทางภูมิศาสตร์และการเมืองการปกครอง

4. โมเดลเศรษฐกิจใหม่

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (GDPR) คือก้าวแรกในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับการเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้บริโภค ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงมีหน้าที่ความรับผิดชอบในแง่จรรยาบรรณและศีลธรรม  ความโปร่งใสคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการใช้ข้อมูล รวมถึงคุณประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับเป็นการตอบแทน  วิธีที่ผู้คนสร้างและดำเนินธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแพลตฟอร์มและตลาดกลางด้านข้อมูลได้รับการใช้งานอย่างกว้างขวางมากขึ้น

ประชาชนเริ่มตระหนักมากขึ้นเกี่ยวกับอานุภาพของข้อมูลส่วนตัว และเริ่มรู้สึกลังเลที่จะแบ่งปันข้อมูลดังกล่าว นอกเสียจากว่าจะได้รับประโยชน์ที่ชัดเจนจากธุรกรรม และไม่มีความเสี่ยงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การตระหนักรู้ดังกล่าวอาจช่วยสร้างโอกาสให้แก่ผู้บริโภคได้เช่นกัน กล่าวคือ บริการต่างๆ เช่น Datawalletช่วยให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมข้อมูลของตนเอง และสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวได้

ปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจข้อมูลที่กำลังเติบโตถูกครอบครองโดยรูปแบบ B2B เป็นหลัก  เพื่อแลกเปลี่ยนกับบริการแบบเฉพาะบุคคล ผู้บริโภคจำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาข้อมูล  อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคแทบจะไม่สามารถตรวจสอบหรือควบคุมวิธีการเก็บรวบรวมและใช้งานข้อมูลของตนเองได้เลย

สำหรับองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล การใช้ข้อมูลของผู้บริโภคให้เกิดประโยชน์สูงสุดนับว่าจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม การพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ และการขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ  นอกจากนี้ ข้อมูลส่วนบุคคลยังช่วยให้ภาครัฐสามารถกำหนดนโยบายที่เหมาะสมและปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชน ตัวอย่างเช่น กระทรวงการคลังของออสเตรเลียร่วมมือกับ LinkedIn เพื่อค้นหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดแรงงานในอนาคต

นอกเหนือจากการตระหนักรู้ถึงคุณประโยชน์ของข้อมูลแล้ว ผู้บริโภคยังรับรู้ถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอีกด้วย  ในวันที่ 25พฤษภาคม 2561 สหภาพยุโรปประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (General Data Protection Regulation GDPR) ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับความกังวลใจที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชนในเรื่องการรักษาความเป็นส่วนตัวและการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคล  ขณะเดียวกัน เรื่องราวฉาวโฉ่เกี่ยวกับข้อมูลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตอกย้ำถึงผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลในทางที่ผิด  นอกเหนือจากกฎหมาย GDPR แล้ว เหตุการณ์เหล่านี้ยังส่งผลให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำเป็นที่จะต้องพิจารณาว่าการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการคุ้มครองข้อมูลถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และจะต้องบังคับใช้กฎหมายในส่วนนี้

โมเดลธุรกิจ B2B และ B2C แบบเดิมๆ จะต้องได้รับการปรับเปลี่ยน  ทั้งนี้ ความตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของข้อมูลอาจช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนบทบาทกลายเป็นคู่ค้า  เส้นแบ่งชีวิตทางสังคมและธุรกิจของเราจะค่อยๆ เลือนหาย และวันหนึ่งเราอาจกลายเป็นสินค้าหรือแบรนด์ และข้อมูลที่เราสร้างขึ้นก็จะกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่า

5. ความมุ่งหวังของสังคมโลก

การแข่งขันเพื่อมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี AI และ Machine Learning ได้รับการขับเคลื่อนด้วยความสำเร็จทางด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกัน ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องสะท้อนมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของเรา รวมถึงการมองโลกอย่างเข้าใจตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งจะช่วยให้เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมแอพพลิเคชั่นทางด้านสังคมที่มุ่งเน้นผู้ใช้เป็นหลัก

ข้อมูล การเชื่อมต่อ และเทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการศึกษา การทำงาน บริการด้านสุขภาพ และการเดินทาง ทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ความไม่เท่าเทียมกัน ความยากจน และภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อม  เทคโนโลยีใหม่ๆ จะเปลี่ยนแปลงสังคมในลักษณะที่สร้างสรรค์ แต่จำเป็นที่จะต้องมีการปรับใช้อย่างระมัดระวัง และคำนึงถึงผลกระทบในวงกว้าง โครงการมากมายที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลกำหนดเป้าหมายทางสังคมที่สร้างสรรค์อย่างชัดเจน เช่น แพลตฟอร์มการจ้างงาน Fluttr และ โครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน “Million Meals” ของ Accenture

ขณะที่ความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การตระหนักรู้ถึงผลกระทบในแง่ลบก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน  อคติของคนเราที่ปรากฏอยู่ในข้อมูลการฝึกอบรมอาจส่งผลให้โมเดล Machine Learning ที่ถูกสร้างขึ้นมีลักษณะเลือกปฏิบัติโดยไม่ได้ตั้งใจ  ผลประทบที่ว่านี้อาจร้ายแรงอย่างมากในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การตรวจคนเข้าเมือง และการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงในกรณีทั่วไป เช่น การจ้างงาน และการประเมินสถานะทางการเงิน  นอกจากนั้น ยังมีอคติที่เกิดจากข้อมูลการฝึกอบรมที่คล้ายคลึงกัน  ตัวอย่างเช่น ข้อมูลการฝึกอบรมที่ไม่มีความหลากหลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ Google Photo AI ระบุอย่างผิดๆ ว่าคนผิวดำคือลิงกอริลล่า

เราอาจมองได้ว่า AI เปรียบเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนข้อมูลที่ใช้ในการฝึกอบรมให้กับระบบ รวมถึงคุณลักษณะทางวัฒนธรรมของบุคคลที่สร้างข้อมูลนั้น  โครงข่ายประสาทเทียม (Neural Networks) และ Machine Learning อาจมีประสิทธิภาพในการค้นหาและขยายแบบแผน แต่โดยมากแล้วไม่ได้คำนึงว่าแบบแผนดังกล่าวส่งผลกระทบแง่บวกหรือแง่ลบต่อมนุษยชาติ  ด้วยการสะท้อนภาพสังคมของเรา AI จึงทำให้เราต้องเผชิญหน้ากับอคติและข้อบกพร่องของเรา  ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องตั้งคำถาม ประเมิน และทบทวนค่านิยมและความเชื่อในเรื่องต่างๆ ของเรา เพื่อให้สินค้าและบริการใหม่ๆ ที่เรานำเสนอมีลักษณะสร้างสรรค์ โดยทุกวันนี้ มีการเน้นย้ำเรื่องจรรยาบรรณและมาตรฐานของข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และมีการพัฒนากรอบโครงสร้างต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาท้าทายเหล่านี้

เพื่อช่วยให้เทคโนโลยีนำเสนออนาคตที่สดใสมากกว่าเดิม เราจำเป็นที่จะต้องปรับใช้กรอบโครงสร้างด้านจรรยาบรรณที่สอดคล้องกันทั่วโลก เพื่อรองรับการเก็บรวบรวมข้อมูล (การบังคับใช้กฎระเบียบว่าด้วยความเป็นส่วนตัวและการไม่ระบุตัวตน) และทางเลือกที่หลากหลายสำหรับข้อมูลที่ใช้ในการฝึกอบรม  นอกจากนี้ การตระหนักรู้เรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นส่งผลให้มีการพัฒนาโซลูชั่นที่มีความเหมาะสมในแง่จรรยาบรรณและศีลธรรม

ในการพยายามที่จะทำให้เทคโนโลยีมีความยุติธรรมและมีจรรยาบรรณเพิ่มมากขึ้น เราจำเป็นที่จะต้องผลักดันและส่งเสริมแนวคิดเรื่องความหลากหลายและการนับรวมทุกกลุ่มคนในโลกแห่งความเป็นจริง  นอกจากนี้ จะต้องมีการถกเถียงกันในประเด็นเรื่องปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการพัฒนา AI ที่มีจรรยาบรรณและความรับผิดชอบ แน่นอนว่าไม่มีคำตอบที่ง่ายดายสำหรับคำถามนี้ ซึ่งย่อมจะแตกต่างกันไปตามประเทศและวัฒนธรรมที่หลากหลาย  ดังนั้นประเด็นที่ยังคงเป็นคำถามสำคัญก็คือ เทคโนโลยีคือแรงขับเคลื่อนสิ่งดีงามที่จะช่วยแก้ไขปัญหาช่องว่างและความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมและเชื้อชาติต่างๆ และหลอมรวมมนุษยชาติเข้าด้วยกันได้หรือไม่

Comments

comments