วันนี้ ฝ่ายความปลอดภัย โครงสร้างระบบ และพิกัดตำแหน่งภูมิศาสตร์ของเฮกซากอน (Hexagon) และฟูจิตสึ ลิมิเต็ด ประกาศความร่วมมือในการพัฒนาแอปพลิเคชันดิจิทัลทวิน (digital twin) หรือการจำลองวัตถุเสมือนจากวัตถุจริง เพื่อใช้คาดการณ์และบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติและอุบัติเหตุบนท้องถนน โซลูชันดังกล่าวสะท้อนถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของทั้งสองบริษัทในการแสวงหาแนวทางปกป้องและฟื้นฟูเมืองจากภัยพิบัติผ่านความร่วมมือทางธุรกิจตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2565  

ทั้งสองบริษัทได้พัฒนาโมเดลการคาดการณ์เพื่อบรรเทาภัยพิบัติโดยอาศัยการคำนวณขอบเขตและผลกระทบจากอุทกภัยโดยใช้ข้อมูลหยาดน้ำฟ้า สร้างภาพขอบเขตปัญหาอุทกภัย และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคาดการณ์ความเสียหาย ทั้งนี้เพื่อให้เมืองต่างๆ สามารถจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลด้านต่างๆ

สำหรับความปลอดภัยบนท้องถนน บริษัททั้งสองได้มุ่งเป้าไปที่แอปพลิเคชันที่ใช้วิเคราะห์จุดเสี่ยงจากการจราจรที่คับคั่งและปัญหาการออกแบบถนนซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไข แอปพลิเคชันดังกล่าวจะช่วยให้หน่วยงานผังเมืองและฝ่ายดูแลท้องถนนสามารถพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่งที่มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น

ฟูจิตสึและเฮกซากอนจะเดินหน้าทดสอบในพื้นที่จริงกับลูกค้าฝ่ายบริหาร เทศบาล และภาคคมนาคมขนส่ง เพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจด้านการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของเมือง ภายใต้เป้าหมายในการจัดทำโซลูชันให้ครอบคลุมทั่วโลกภายในปีงบการเงิน 2566 ซึ่งสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2567

กรณีการใช้งานที่ 1: การปกป้องเมืองและภูมิภาคจากภัยธรรมชาติ

(ตัวอย่าง) ภาพจำลองสถานการณ์ภัยพิบัติโดยการพยากรณ์อุทกภัยล่วงหน้า

(ตัวอย่าง) การรายงานจำนวนอาคารสถานที่และผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และการเสนอมาตรการรับมือ

ข้อมูลพิกัดตำแหน่งและภาพบนพื้นที่ต่างๆ ทั้งด้านการแพทย์ การคมนาคมขนส่ง พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ล้วนมีความสำคัญต่อการปกป้องผู้คนและโครงสร้างทางสังคมจากภัยคุกคาม ทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติและอันตรายในด้านอื่นๆ ในโลกยุคที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ทุกเวลา การใช้แพลตฟอร์มระบบคอมพิวเตอร์ในรูปแบบบริการ (Computing as a ServiceCaaS) ที่มอบบริการที่ใช้งานง่ายและทรงพลังภายใต้ระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีซอฟต์แวร์สุดล้ำของฟูจิตสึควบคู่กับ M.App Enterprise จากเฮกซากอน ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ให้พิกัดตำแหน่งภูมิศาสตร์แบบเรียลไทม์ ทำให้ทั้งสองบริษัทสามารถนำเสนอเทคโนโลยี ‘การเตรียมความพร้อมทางดิจิทัล’ (หมายเหตุ 1) เพื่อวิเคราะห์และตรวจสอบภัยพิบัติ โดยสามารถยกระดับการรับมือภัยต่างๆ ล่วงหน้าได้บนแบบจำลองวัตถุเสมือนจากวัตถุจริงหรือดิจิทัลทวิน ซึ่งจำลองสภาพแวดล้อมของโลกจริงได้อย่างละเอียดสมจริง

โซลูชันที่ทำงานผสานกันดังกล่าวใช้โมเดลการพยากรณ์อุทกภัยและข้อมูลหยาดน้ำฟ้าเพื่อใช้ในการคำนวณและสร้างภาพอุทกภัยที่ซับซ้อน ตลอดจนจัดการกับปัญหาความท้าทายและกรณีการใช้งานในด้านอื่นๆ ทั้งด้านการแพทย์ การเงิน ภาคสาธารณะ และอุตสาหกรรมการกระจายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการพยากรณ์ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างแผนรับมือภัยพิบัติ และการประเมินมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยจัดการเรื่องเส้นทางอพยพที่ปลอดภัยและช่วยปกป้องโครงสร้างพื้นฐานในกรณีที่เกิดสภาพอากาศผิดปกติและภัยธรรมชาติ โดยอาศัยเซนเซอร์ IoT ที่ติดตามสภาพอากาศและบริการพยากรณ์อากาศในการตรวจสอบอุณหภูมิและปริมาณฝน

กรณีการใช้งานที่ 2: การบรรเทาอุบัติเหตุบนท้องถนน